Monday 5 September 2016

Ramdhanu

หลายคนที่ติดตามบล็อกเราคงจะได้เห็นเราพูดอยู่บ่อยๆว่าหนังอินเดียมักจะหยิบยกเอาเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัวที่ไม่มีใครคิดจะจับมาขยายประเด็นทำเป็นหนังมาทำเป็นหนังได้ เรื่องแบบนี้ของชำนาญของพี่เขาละ แล้วมันก็เป็นสเน่ห์ที่ทำให้เราตกหลุมรักหนังอินเดียอย่างถอนตัวไม่ขึ้นแบบนี้ด้วย และวันนี้เราจะแนะนำหนังอินเดียในอีกภูมิภาคนึงให้ลองหามาดูกัน

Ramdhanu-Movie
                                                                                                    Source

Ramdhanu เป็นหนังเบงกาลีที่หยิบยกเอาเรื่องการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าเรียนโรงเรียนประถมขึ้นมาพูดถึงในแง่มุมที่ตลกน่ารักตามประสาหนังครอบครัว ใครจะไปคิดว่าเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนจะถูกจับมาทำหนังได้น่ารักขนาดนี้ เรื่องนี้เพื่อนติ่งอินเดียด้วยกันแนะนำมา ฟังตอนแรกเหมือนจะเครียดนะ ตามประสาคนไม่อยากมีลูกมีภาระอย่างเรา นึกถึงเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะตัวเป็นเกลียวก็แทบกุมขมับแทนพ่อแม่ในเรื่องแล้ว แต่บอกได้เลยว่า Ramdhanu ไม่ได้เครียดขนาดนั้น เนื้อเรื่องคร่าวๆว่าด้วยครอบครัว Dutta ที่มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก คนพ่อเปิดร้านขายยา แม่เป็นแม่บ้าน และเจ้าหนูที่กำลังจะเข้าเรียนชั้นประถมมีชื่อว่า Gogol ด้วยความเป็นแม่อะเนอะ แถมจบป.โทด้วยซ้ำ นางเลยอยากให้ลูกชายคนเดียวได้เข้าเรียนโรงเรียนชั้นหนึ่งประจำรัฐ ก็เลยไปกดดันเอากับคุณผัวเจ้าของร้านขายยาให้หาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้ได้ ลามไปถึงกดดันเจ้าหนู Gogol ให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ลงทุนจ้างครูมาสอน สุดท้ายเจ้าหนูจะหาที่เรียนดีๆได้มั้ยก็ต้องไปลุ้นกันเอาเองละนะ


สิ่งที่เราชอบมากใน Ramdhanu ก็คือไอเดียที่จับเอาเรื่องราวใกล้ตัวของผู้คนมาเล่าเป็นหนัง ใครจะไปคิดว่ากะอีแค่การจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้ลูกหลานได้เข้าเรียนโรงเรียนระดับท็อปจะเอามาเป็นพล็อตหนังได้ มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้น่าติดตามมากๆเลยนะว่าเขาจะหยิบยกประเด็นที่แสนจะใกล้ตัวจนดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไรมากมายมานำเสนอในแง่มุมแบบไหน ซึ่งตรงนี้หนังก็ทำให้เราได้รู้ว่าระบบการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะของอินเดียจะต่างจากของบ้านเรามากพอสมควร เท่าที่เรารู้มานะ ของไทยเราจะระบุเป็นค่าบำรุงการศึกษา ค่าบริจาคสำหรับเครื่องใช้ไม้สอยหรือสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ร่วมกันในโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำการจ่ายเงินแบบขึ้นกับทางโรงเรียนโดยตรงเลย ไม่ว่าจะจ่ายให้ห้องการเงินหรืองุบงิบมุบมิบใต้โต๊ะกับบุคลากรฝ่ายบริหารของโรงเรียนก็ตาม แต่ของอินเดียไม่ใช่แบบนั้น จะเป็นการจ่ายเงินให้กับนายหน้า (ที่ก็มีอาชีพอื่นทำเป็นหลักแหล่ง - ในเรื่องเป็นเจ้าของโรงงานเย็บผ้า) หลังจากนั้นนายหน้าถึงจะพาไปฝากที่โรงเรียนให้ ผู้ปกครองไม่ได้ต้องไปดีลกับบุคลากรของทางโรงเรียนเองโดยตรง ใครที่อยากเข้าที่ไหนก็ต้องไปหานายหน้านี้ก่อน ฮีจะมีคอนเนคชั่นอยู่กับหลายๆสถาบัน และราคาก็ต่างกันด้วย เลือกเอาตามใจชอบว่าอยากจะเข้าที่ไหน แล้วก็หาเงินมาประเคนให้ฮีตามนั้นภายในวันที่กำหนด

Ramdhanu-Dutta-family
                                                                                                               Source

อีกจุดที่ชอบคือ casting ตัวละครพ่อแม่ลูกครอบครัว Dutta ดูเป็นพ่อแม่ลูกกันจริงๆ ดูเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่คนหล่อคนสวย เป็นคนที่มีชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตที่จับต้องได้ ชีวิตชนชั้นกลางที่ยังต้องดิ้นรนกับสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม สำหรับเรามันเรียลมากกว่าหนังที่นำเสนอเรื่องของคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสมบูรณ์พูนสุขดีอยู่แล้ว ตัวคุณพ่อเป็นชายร่างสันทัดและค่อนไปทางท้วม ดูเป็นคนอารมณ์ดีแต่ก็ไม่ได้ตลกอะไรตลอดเวลาจนน่ารำคาญ ส่วนคุณแม่ดูเป็นผู้หญิงที่สวยแบบบ้านๆ เป็นผู้หญิงที่เรียบๆไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ได้เรียบเป็นกุลสตรีอะไรนักหนา ส่วนน้อง Gogol นั้นน่ารักมาก ทั้งหน้าตา ทั้งการแสดง ดูแล้วเราเชื่อจริงๆว่าทั้ง 3 คนนี้คือพ่อแม่ลูกกัน ยิ่งฉากที่ทั้งสองคนเถียงกันเรื่องลูกนี่โคตรจะเรียลอะ เราไม่แน่ใจประวัติว่าทั้งสองคนแต่งงานมีลูกเต้ากันแล้วหรือยังนะ ถ้ายังนี่ถือว่าตีบทแตกมากๆ เล่นได้เข้าถึงหัวอกพ่อแม่ที่มีลูกวัยจะส่งเข้าโรงเรียนประถมมากเลย ที่สำคัญคือบทคุณพ่อนี่เล่นโดยผู้กำกับเองเลยแหละ ที่กำกับร่วมกันกะผู้กำกับหญิงอีกคน

Ramdhanu-Gogol
                                                                                                               Source

ส่วนตัวละครสมทบอื่นๆก็ดูจริงจังตามบท ทั้งครอบครัวข้างพ่อของ Gogol ที่ได้ไปใช้เวลาด้วยกันตอนปิดเทอม ทั้งผู้ปกครองเด็กๆในโรงเรียนติวที่มาจากหลายสารทิศ แต่คนที่เราชอบมากคือคุณครูเจ้าของโรงเรียนติวเพื่อการสอบเข้า Shining Star โรงเรียนนี้จะรับติวการวางตัวของผู้ปกครอง ทั้งการแต่งกาย กิริยามารยาท คนผัวต้องเลื่อนเก้าอี้ให้เมียนั่ง ตอบคำถามยังไง ต้องเตรียมหลักฐานแบบไหน พูดภาษาอังกฤษยังไง และสอนเด็กในแง่ความพร้อมซะมากกว่าที่จะติววิชาการเข้มๆ เราดูแล้วแบบเฮ้ย โรงเรียนที่สอนติวแบบนี้ดีมากๆ เราไม่มีข้อมูลนะว่ามันมีจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะในอินเดีย ในไทยเรา หรือประเทศไหนๆ แต่เราชอบคอนเส็ปท์ของโรงเรียนติวแบบนี้จัง คือมันดีอะ มันคือแนวคิดที่ถูกต้องที่ควรทำมากๆเลย ลองนึกว่าถ้าเราเป็นคนที่จะต้องสัมภาษณ์พ่อแม่และเด็กเพื่อรับเข้าเรียน มีสองบ้านที่เราต้องเลือก เด็กมีความสามารถพอๆกัน แต่บ้านนึงก่อนจะนั่งพ่อได้เลื่อนเก้าอี้ให้แม่ในขณะที่อีกบ้านไม่ได้ทำ แบบนี้บ้านที่พ่อรู้จักมารยาทสุภาพบุรุษนี่เอาใจเราไปเลยนะ แล้วคนที่รับบทเป็นคุณครูเจ้าของโรงเรียนนี่ก็ดูดีมาก ดีจนน่าจะไปเปิดโรงเรียนแบบจริงจังเลย ไม่ใช่แค่โรงเรียนติวแบบนี้ ดูแล้วก็นึกถึงครูใหญ่เราสมัยอนุบาลเลยแฮะ เราติดครูใหญ่มาก ครูเป็นผู้หญิงขาว สวย อวบนิดๆ มาดนักเรียนนอก ในห้องมีเปียโนหลังใหญ่ เราชอบไปขลุกอยู่ข้างๆเปียโนและครูก็เอานมกล่องมาให้เรากินด้วย ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วยังจำได้ไม่ลืมเลย

Ramdhanu-teacher
                                                                                                               Source

นอกจากนี้หนังยังแฝงข้อคิดบางอย่างไว้ด้วย เช่นเรื่องคุณค่าความงามของภาษาถิ่น คุณพ่อน้อง Gogol ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ ทางครอบครัวเลยกังวลว่าการจะพาน้องเข้าโรงเรียนดีๆอาจจะเป็นปัญหาถ้าพ่อแม่เด็กไม่ค่อยได้ภาษา แต่คุณครูเจ้าของโรงเรียนติวกลับชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ การที่เราพูดภาษาแม่ของเราโดยที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่เราคุยกันได้รู้เรื่องและพูดในสิ่งที่ดี แค่นี้มันก็เพียงพอแล้ว หรือเรื่องของการส่งลูกให้เรียนสูงๆ ลูกมีความเจริญก้าวหน้าสมใจ แต่ไปก้าวหน้าที่ต่างแดน ไกลกันหลายหมื่นไมล์ แถมไม่มีเวลาจะติดต่อพ่อแม่ที่แก่เฒ่า อย่างที่ครอบครัวเพื่อนบ้านของ Dutta ต้องเจอ สิ่งนี้ทำให้ครอบครัว Dutta อึนไปเหมือนกัน พร้อมๆกับเราคนดู และมันก็ทำให้พวกเขาคิดได้ว่าควรจะวางอนาคตของลูกชายยังไง

จุดที่จะขอติมีนิดเดียว เราว่าบทพูดของตัวละครบางตัวมันเกินจริงไปหน่อย ช่วงที่ Gogol ยังหาโรงเรียนไม่ได้ มันจะมีผู้ปกครองของเด็กบางคนที่สนิทกับตัวคุณแม่ ชอบมาพูดทำนองอวดเบ่งใส่ว่าเนี่ยนะ ลูกชั้นได้ที่นั่นที่นี่แล้ว ละก็ถามทำนองหวังดีประสงค์ร้าย (แบบเก็บข้อมูลไปเมาท์ต่อละมั้ง) ว่า Gogol ละได้ที่ไหนหรือยัง อ้าว ยังไม่ได้เหรอ จะทันเปิดเทอมมั้ยเนี่ย น่าสงสารจังเลย บลาๆ คือมันมีคนแบบนี้จริงๆเหรอวะ หรือว่าเราโลกสวยไป ไม่เคยเจอผู้ปกครองที่ชอบยกลูกตัวเองข่มลูกชาวบ้านตั้งกะเด็กแบบนั้น จบอนุบาลยังไม่ทันกี่วันเลย นี่มึงข่มกันยังกะเรียนระดับสูงๆหรือได้เหรียญโอลิมปิควิชาการมางั้นแหละ เราว่าหนังน่าจะไปแสดงความกดดันที่จุดอื่นได้มากกว่าตรงนี้ อันนี้มันดูเว่อร์ไปหน่อย อาจจะมีจริงๆแหละคนพรรค์นี้ แต่มันดูเชยอะมุกแบบนี้ เชยในความเว่อร์ น่าเบื่อ เลิกใช้เหอะ

Ramdhanu-poster
                                                                                                                         Source

Ramdhanu ในภาษาเบงกาลีแปลว่าสายรุ้ง ก็สมแล้วที่ตั้งชื่อหนังแบบนี้ เราได้เห็นความงดงามของเด็กน้อยวัยประถม ได้เห็นความรักบริสุทธิ์ของพ่อแม่ ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็พยายามทำทุกหนทางเพื่อมอบสิ่งดีๆให้แก่ลูก ซึ่งในเรื่องนี้คือการศึกษา เราได้เห็นภาพของครูอาจารย์ที่เข้าใจเด็กและเข้าใจโลก ต่างกับชีวิตจริงที่หาพบได้ยากมากในทุกวันนี้ ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดไปทำให้ Ramdhanu เป็นหนังอินเดียที่งดงามสมความหมายของสีรุ้งจริงๆ



Location: กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

0 comments:

Post a Comment

แสดงความเห็น แนะนำ ติชม เข้ามาได้ตามสะดวกนะ