Wednesday 2 September 2015

Dil Dhadakne Do


ถ้าจะต้องให้เราแนะนำหนังอินเดียใหม่ๆที่เราคิดว่าน่าจะดูง่ายสำหรับคนที่ยังไม่เคยเปิดใจดูหนังอินเดียมาก่อน หนังที่เราอยากแนะนำก็คงจะหนีไม่พ้น Dil Dhadakne Do นี่แหละ ทีนี้มาดูเหตุผลกันนะว่าทำไม

                                                                                                Source

1. โปรดักชั่นระดับ Hollywood

                                                                                                                                                         Source

ลงทุนไปนับหลายร้อยล้านรูปี ทั้งนักแสดงชื่อดังที่ขนมาหลายคน ทั้งการไปถ่ายต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ของเรื่อง เสื้อผ้าที่ดูดีดูแพงสมฐานะตัวละครไฮโซ ทั้งการคุมโทนสีของภาพ ทั้งการตัดต่อ กำกับท่าเต้น ทำเพลงประกอบ ยิ่งใหญ่อลังการและปราณีตมากทั้งที่เป็นหนังสมัยใหม่ หนังอินเดียหลายๆเรื่องถึงจะดีและดังจริง แต่ก็ไม่มีองค์ประกอบครบแบบนี้นะ ซึ่งทีมผู้สร้างคือบริษัทของ Farhan Akhtar หนึ่งในดารานำนั่นเอง แล้วก็กำกับโดย Zoya Akhtar พี่สาว อุตสาหกรรมในครัวเรือนแท้ๆ 

2. รวบรวมดาราดังฝีมือดีไว้มากมาย

                                                      Source
                                                 Source
                                                 Source
                                                       Source
                                                                Source
                                                     Source

แคสติ้งดีงามล้ำเลิศอย่าบอกใครเลย ไม่ว่าจะรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นลูก ขนมาหมดทั้งพระเอกดังยุคเก่าและพระเอกนางเอกรุ่นใหม่ Anil Kapoor, Farhan AkhtarPriyanka Chopra, Anushka Sharma, Ranveer Singh และ Shefali Shah ปกติแล้วเราจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูดาราดังคับคั่งแบบนี้ในหนังสักเท่าไหร่นะ นี่ขนมากันเยอะจริงๆ เอามาเล่นเป็นพ่อแม่ลูกกันก็ไม่ขัดเขินเลย PC เป็นพี่สาว Ranveer ได้แบบน่าเชื่อมากๆ แม้ว่าจะเคยเล่นคู่รักในเรื่องอื่นมาก่อน Ranveer เองก็ดีมาก ดูแล้วโคตรเชื่อเลยว่าเป็นน้องชายของบ้าน เป็นหนุ่มแสบๆที่ต้องสืบทอดกิจการของพ่อทั้งๆที่ตัวเองมีความใฝ่ฝันด้านอื่น ส่วน Farhan เองก็ดูหล่อแบบฉลาดมาก ส่วนตัวรู้สึกว่าฮีดูหล่อแบบมีสมองอยู่แล้ว ยิ่งมารับบทเป็นช่างภาพของ National Geographic แบบนี้ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่เลย Anushkar ก็ดูสวยแซบไม่เบาสำหรับการเป็นนักเต้น ฟากลุง Anil รึก็ยิ่งแก่ยิ่งเท่ สมัยหนุ่มๆดูแล้วเด๋อด๋าไม่เบานะ แต่พอแก่ตัวลงเฮ้ยราศีเท่จับแพรวพราวไปทั้งตัวเลยลุง 

                                               Source

ความจริงเรื่องนี้ Amir Khan ก็เล่นด้วยนะ แต่เราขออุบไว้ก่อนว่าเขาเล่นเป็น "ตัว" อะไร ขืนบอกก่อนก็ไม่สนุกสิ ได้ดูเองแล้วจะรู้ จัดว่าเป็นตัวที่มีบทบาทสำคัญระดับนึงเลยแหละ 

3. ฉากเพลงเต้นที่ถ่ายทำแบบ long take 



จากที่เคยดูหนังอินเดียมานับร้อยเรื่อง มันต้องมีสักเรื่องแหละที่มีฉากเต้นแบบ long take ที่เคยผ่านตามาก่อน แต่กับ DDD นี่ทำให้เพิ่งมาสำเหนียกรู้ในความเจ๋งของการกำกับเพลงเต้นแบบ long take ตัวเพลงระยะเวลาสี่นาทีครึ่งกับอีกนิดๆ คิดดูว่าจะยากขนาดไหน ฉากในเรือสำราญที่ต้องปาร์ตี้กัน มีคนเข้าร่วมในฉากนับร้อยชีวิต ทั้งเต้นทั้งร้อง รายละเอียดเยอะมาก คนนั้นขยับอย่างนี้ คนนี้ขยับอย่างโง้น ไอ้นี่ยืนอยู่โน่น อีนั่นยืนยังไง และความที่เป็น long take แปลว่าทำผิดคือต้องเริ่มใหม่แต่ต้น อยากจะเอาพวงมาลัยพร้อมผ้าแพรเจ็ดสีเจ็ดศอกไปพันรอบตัวคนกำกับท่าเต้นและกราบนางแบบอัษฏางคประดิษฐ์รัวๆอีก 8 ทีเลย นึกดูว่าตอนถ่ายทำมันจะโกลาหลขนาดไหน ต้องมีคนคุมคิว ปล่อยคิวว่าใครจะต้องมูฟไปตอนไหนและมูฟแบบไหน กล้าประกาศไว้ตรงนี้เลยว่าใครไม่เคยดูหนังอินเดียดูแล้วจะต้องทึ่ง ส่วนพวกที่เคยหัวเราะเยาะฉากเต้นในหนังอินเดียน่ะ ดูแล้วก็สำเหนียกบ้างนะว่าไม่ใช่ทำกันง่ายๆและก็ไม่ใช่เรื่องตลกเลย ที่สำคัญเพลง Gallan Goodiyan นี่มันสะใจมาก สมกับความหมายของเพลงที่ว่า There is no party like Punjabi party จริงๆเลยให้ตาย ทุกวันนี้นั่งฟังเพลงนี้ทีไรตีนขยับดิ๊กๆไปตามเพลงทุกที

4. โลเคชั่นสวยงามตระการตาที่สุด

                                                                                                                                                         Source

หนังเรื่องนี้ยกขบวนกันไปถ่ายบนเรือสำราญขนาดใหญ่ที่วิ่งในน่านน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งกินพื้นที่แถบประเทศตุรกี ตูนีเซีย สเปน อิตาลี และยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีฉากก่อนที่จะลงเรือสำราญในอินเดียเองอีกด้วย ตัวเรือสำราญทำได้ใหญ่ยักษ์อลังการดีมากๆ โดยเฉพาะฉากที่ถ่ายตอนเรือกำลังแล่นกลางน้ำจากมุมสูง โหย รู้สึกว่าเขาทุ่มงบสุดๆ ก็ไม่รู้นะว่าถ่ายจริงหรือใช้ CG ทำเอา แต่ไม่ว่าจะใช้ทางไหนเงินต้องถึงอะที่แน่ๆ นอกจากเรือแล้วยังมีฉากที่แวะขึ้นบกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆด้วย ที่ตุรกีที่ไปดูพวกมัสยิดอะไรสักอย่างนี่สวยเว่อร์ๆ อิตาดีก็ช่างดีงาม ทุกที่ที่กรุ๊ปทัวร์เรือสำราญแวะไปล้วนสวยงามอร่ามแท้แลตะลึงเป็นที่สุด ทำเอาอยากจะเที่ยวแบบตามรอยเหมือนพวกซีรีส์เกาหลีเลยอะ 

5. เสื้อผ้า หน้า ผม อุปกรณ์ประกอบฉาก ไม่มีที่ติ

                                                                                                                                                         Source

อีกจุดเด่นที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเสื้อผ้าของตัวละคร ด้วยความที่เป็นเรื่องราวชีวิตครอบครัวรวยๆและสังคมของพวกเขา เสื้อผ้าเลยต้องดูดี ดูไฮ ดูแพง ทำออกมาได้สมฐานะจริงๆ เสื้อผ้าที่ PC ใส่นี่สวยๆทุกตัว ยิ่งชุดที่ใส่ในปาร์ตี้ตามคลิปด้านบนนี่สวยเจิดสุดๆ ขนาดเราไม่ใช่หญิงจ๋ายังจะอยากได้ไว้ใส่ไปงานกลางคืนสักตัวเลย และในฉากที่ว่านี่เรามองต้นแขน PC เพลินมากเลยนะ กระชับได้รูปแต่ไม่แข็งเกร็งจนหมดความอ่อนหวาน เสื้อผ้าของพวกผู้ชายก็ดีงามเหมือนกัน สวยงามน่าใส่ แม้แต่ของตัวละครรองๆก็ดูดีอะ ดีไปหมดทุกคน หาที่ติไม่เจอจริงๆเรื่องคอสตูมเนี่ย หน้าและผมก็เลอเลิศปานกัน พร็อพประกอบฉากก็อลังอู้ฟู่สมเป็นหนังพี่พูดถึงชีวิตไฮโซไฮซ้อของอินเดีย ดูแล้วเชื่อหมดใจจริงๆว่าไอ้พวกนี้แม่งรวย

6. สะท้อนสังคมเรื่องครอบครัวและชีวิตคู่

                                                                                          Source

จุดแข็งอีกอย่างนึงคือบทที่สะท้อนปัญหาในครอบครัวและชีวิตคู่ เนื้อเรื่องกล่างถึงครอบครัวไฮโซครอบครัวนึงคือ บ้าน Mehra อีครอบครัวนี้เป็นคนรวยของอินเดีย ครอบครัวก็เหมือนจะอบอุ่นดีหรอกนะ แต่จริงๆแล้วเฟคมาก ไอ้ตัวพ่อก็แอ๊บเป็นรักแม่ปานจะกลืนจะแดก พ่อแม่ก็ทำเหมือนเข้าใจหัวอกหัวใจลูก แต่บังคับลูกสาวคนโตให้แต่งงาน สมาชิกในครอบครัวไม่สื่อสารกันเลย ไม่มีใครพูดถึงปัญหาหรือความไม่เข้าใจกันนั้นออกมาอย่างตรงๆ ได้แต่เก็บสะสมไว้รอวันระเบิด แล้วมันก็ระเบิดออกมาจริงๆ ในจุดนี้ต้องชมคนเขียนบทมากที่เลือกให้ตัว Kabir หรือไอ้ลูกชายคนเล็กแห่งบ้าน Mehra เป็นคนแกะปมนี้ ด้วยบุคลิกที่ทะเล้น บ้าๆบอๆ ที่ก็ตรงกับตัว Ranveer มันเลยทำให้เรื่องที่น่าเครียดดูไม่เครียดเท่าที่ควร เหมือนการเอาเรื่องจริงมาล้อเล่นน่ะ คนเขาเถียงกันเครียดๆอยู่ แม่ผัวของพี่สาววี้ดว้ายขู่จะฆ่าตัวตายตอนที่ลูกสะใภ้บอกจะหย่าเพราะไม่ได้รักผัวเฮงซวยซึ่งก็คือลูกชายตัวเอง ไอ้นี่เสือกไปทักนางว่าหยิบมีดผิดแล้วครับคุณป้า มีดตัดเนยมันเฉือนข้อมือไม่ออกหรอกครับ แถมส่งมีดแบบจริงๆให้พร้อมแนะนำว่าต้องตัดเส้นไหน ตัดทแยงยังไงถึงจะได้ตายสมใจ น้องคนเล็กของบ้านกวนตีนใช้ได้ ดูแล้วหลงรัก Ranveer ไปเลย ดูมากี่เรื่องไม่เคยหลงรักแบบนี้มาก่อน เรื่องนี้เล่นออกมาพอดี ไม่ใหญ่รัชดาลัยอย่างเรื่องอื่น

ปมเรื่องการวางอำนาจเหนือผู้หญิงในชีวิตคู่ก็จับเอามาเล่น ส่วนตัวแอนตี้ผู้ชายที่มีสันดานแบบนี้มากๆ เลยรู้สึกสะใจทุกครั้งที่หนังไม่ว่าชาติไหนก็ตามเลือกเอาประเด็นนี้มาเล่นแรงๆ ซึ่งก็ประทับใจเจ๊มากที่เลือกให้ Farhan เป็นคนเปิดประเด็นนี้ หลังจากที่แต่งงานไปกับไอ้ทึ่มคนนึงที่ก็รวยพอๆกัน พี่สาวคนโตแห่งบ้าน Mehra ก็เหมือนตกอยู่ใต้อำนาจผัวกรายๆ ถึงจะไม่ได้กฎขี่ตบตีอะไรแบบเห็นได้ชัดๆในการกระทำ แต่มีการแทรกแซงการตัดสินใจอยู่เสมอ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับชีวิตของตัวเองได้แบบเต็ม 100% บทแบบนี้ได้คนหล่อฉลาดอย่าง Farhan มาพูดไดอะล็อกเจ๋งๆเพื่อหักหน้าไอ้ผัวบ้าๆมันช่างสะใจดีนักแล บอกลาผัวเก่าจอมกฎขี่ซะ แล้วไปลั้นลากับตากล้องอินดี้ที่เป็นเฟมินิสต์สิ ชีวิตจะดี๊ดีกว่าเก่าเยอะ พูดกงๆว่าเลือกมิถืกเบย Sunny หรือ Kabir ดีนะ คนนึงก็หล่อ รวย กวนตีน อีกคนก็หล่อฉลาดซ้ำเป็นเด็กแนว ที่สำคัญจิตใจงามทั้งคู่

เท่าที่ร่ายยาวกับเหตุผลทั้ง 6 ข้อนี้คิดว่ามากเกินพอที่จะบอกว่าทำไมผู้เริ่มต้นถึงควรเริ่มด้วย Dil Dhadakne Do เราเคยเอา trailer ให้เพื่อนที่เกิดมาไม่เคยดูหนังอินเดียมาก่อนเลยดู หลายๆคนพูดตรงกันว่าทึ่งมาก ไม่คิดว่านี่คือหนังอินเดีย โปรดักชั่นอลังการ เนื้องานไม่ต่างจากหนัง Hollywood บางคนนี่ถึงขั้นแขวะด้วยซ้ำว่าหนังไทยทำอะไรอยู่ นี่ละถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงอยากให้มือใหม่หัดดูหนังอินเดียเริ่มต้นกับเรื่องนี้ เพราะมันมีข้อคิดสำหรับครอบครัวด้วย ไม่ใช่ว่าสักแต่จะดูเอามันหรือเอาฉากสวยงามอลังการอย่างเดียวน่ะ

                                                                                         Source

เหมือนจะชมมาตั้ง 6 ข้อเลยใช่มั้ย คราวนี้แหละจะติแล้วนะ ส่วนตัวรู้สึกว่าบทของ Anushka ดูเหมือนไม่ค่อยรัก Karbir เท่าไหร่เลย เรียกว่าเป็นจุดบกพร่องของบทเลยก็ว่าได้ ลูกไฮโซเจอกับนักเต้นในเรือสำราญ ถูกใจกัน รักกัน มีอะไรกัน มันดูง่ายไป ง่ายจนมองไม่ออกว่าฝ่ายหญิงรักฝ่ายชายตรงไหน คือถ้าเปลี่ยนแบบว่าฝ่ายชายนิสัยแย่ เป็นลูกคนรวยที่โดนสปอยล์ ฟันหญิงเป็นว่าเล่นแต่ตอนสุดท้ายแพ้ความดีและกลับใจได้อันนี้จะยังพอ make sense นะ แต่ไอ่นี่เปล่าเลย ดูรักกันดีมาตลอด มีมางอนกันตอนหลัง แต่ไอ้ช่วงที่รักกันเนี่ย ดูไม่เห็นฝ่ายหญิงรักอะไรนักหนาเลย พอตอนงอนเลยทำเหมือนหนีไปดื้อๆไม่บอกไม่กล่าว ไม่มีอาการน้อยใจแบบจริตหญิงอะ ซึ่งงงมาก ณ จุดนี้ เพราะส่วนตัวก็ไม่มีจริตหญิงแบบนี้หรอกไง แต่นางเป็นนักเต้นนะเฮ้ย ทำไมดูจริตแข็งกระด้างจัง ดูเหมือนไม่รักไม่แคร์ไอ้ Kabir เท่าไหร่เลย ดูไปก็หงุดหงิดไป รู้สึกเหมือนฮีน่าจะหาคนที่รักฮีจริงๆมากกว่ายัยนี่ได้อะ หล่อ รวย ทะเล้น กวนตีน ขับเครื่องบินได้ แถมจิตใจดี สาวๆที่ไหนก็อยากจะอ้า ... แขนรับละ จริงปะ นอกนั้นก็ไม่มีข้อติอะไรแล้ว ทุกอย่างดีงามตามท้องเรื่องอย่างที่สาธยายไปแต่แรกนั่นแหละ

ตอนนี้แผ่นก็มีวางขายในไทยแล้ว ลองไปหามาติดตามดูกันได้ แนะนำจริงๆสำหรับคนที่ยังไม่เคยดูหนังอินเดียมาก่อนและอาจจะยังไม่กล้าลองหนังอินเดียที่มันมีกลิ่นอายอินเดียจัดจ้านจนเกินไป ลอง Dil Dhadakne Do เลย เวิร์ค เชื่อเรา




Friday 28 August 2015

Natrang



คุณมีความฝันมั้ย? คุณเชื่อในความฝันของคุณแค่ไหน?

สองประโยคคำถามข้างต้นนี้ได้ยินเผินๆแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังโดนชวนไปทำขายตรงยังไงชอบกลใช่มั้ยละ แต่บอกเลยว่าความฝันและความเชื่อคือแก่นของหนังเรื่องนี้ Natrang เป็นหนังภาษามารฐีเพียงแค่เรื่องเดียวที่เรามีโอกาสได้ดู ต้องขอขอบคุณเพื่อนติ่งอินเดียที่แนะนำไว้ ณ ที่นี้ด้วย

                                                              Source

ถ้าจะให้เราเล่าเนื้อเรื่องย่อแบบคร่าวๆตามประสาคนขี้เกียจแบบเราแล้วละก็ เราจะไล่ให้คุณไปเปิดเพลงความเชื่อ ของ Bodyslam ฟังเอาแทน เพราะเนื้อร้องทุกคำนั่นแหละคือใจความของหนังเรื่องนี้ล้วนๆเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเราทำแบบนั้นจริงคงโดนด่าเปิดเปิงเป็นแน่แท้ เอาละ เราจะเล่าให้ฟังสั้นๆแล้วกัน


พระเอกของเรื่องชื่อว่า Guna เป็นกรรมกรที่มีใจรักในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมากๆ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี เอาเป็นว่ามันคล้ายๆลิเกก็แล้วกัน เขามีความฝันอยากจะเป็นนักแสดงในคณะละครพื้นบ้านอันนี้ วันดีคืนดีเขากับเพื่อนๆตกงาน ก็เลยได้ฤกษ์มารวมตัวกันก่อตั้งคณะละครขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเขารับบทเป็นพระเอก แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือยังไม่มีนางเอก เลยต้องดั้นด้นไปหานางเอกกัน พอหาได้มาคนนึงแล้ว ยัยนางเอกกับขุ่นแม่ที่ทำท่าเจ้ากี้เจ้าการเหมือนเป็นผู้จัดการส่วนตัวของดาราใหญ่ก็มิปานก็ท่ามาก ยึกยักว่าจะต้องให้มีบทกะเทยไว้เล่นเรียกแขกด้วย พวกนางบอกว่าถ้าหาไม่ได้จะไม่รับเป็นนางเอกให้ ยักกระสายน่าหมั่นไส้จริงๆ ซึ่งก็ต้องไปควานหาคนมารับเล่นบทนี้อีก ทำไปทำมาหาไม่ได้ แหงแหละ สังคมอินเดียแถบชนบท ผู้ชายหน้าไหนอยากจะมายืนทำตุ้งติ้งให้คนนับร้อยดูแล้วหัวเราะวะ Guna จึงจำใจรับบทนี้ไว้เอง โดยที่มีนางเอกคอยช่วยซ้อมบทบาทการเป็นกะเทยให้ แน่นอนว่าการก่อตั้งคณะละครนี้ถูกคัดค้านโดยครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงอะไรทำนองนี้มั้ง แล้วยิ่งพอรู้ว่าต้องเล่นเป็นกะเทยอีก ทั้งพ่อทั้งเมียเลยรับไม่ได้เอามากๆ แม้แต่พ่อตาก็ถึงขนาดมาพูดว่าจะออกทุนให้ไปทำค้าขายอะไรก๊อบๆแก๊บๆจะดีกว่า อย่าเล่นเลยไอ้บทกะเทยเนี่ย มันตากหน้าอายเขา แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ทั้งๆที่เวลาอยู่หน้าฉากคนดูจะสนุกไปกับบทบาทที่เขาได้รับ แต่พอลงจากเวทีแล้วกลับโดนเหยียดหยามกันซะอย่างงั้น โดนพูดจาล้อเลียนต่างๆนานา เมียเองก็พลอยโดนไปด้วย แม้แต่ลูกชายยังโดนเด็กเกเรมาล้อว่าเป็นลูกใครกันแน่ ในเมื่อพ่อเอ็งเป็นกะเทยซะขนาดนั้น เอ็งใช่ลูกเขาแน่หรือ แม่เอ็งท้องกับคนอื่นป่าววะ 

                                                                               Source

ปมปัญหาการถูกเหยียดหยามมากมายนี้มันค่อยๆบ่มเพาะให้เกิดการแตกหักกับทางครอบครัว มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากสำหรับชีวิตคนๆนึงที่จะต้องเลือกระหว่างครอบครัวและความฝัน จะต้องเลือกเอาไว้เพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น เส้นทางความฝันของ Guna ไม่ง่ายเลย เรานึกถึงคำพูดที่บอกว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กับเส้นทางของเขาแล้วมันยิ่งกว่าเอาทั้งหนามแหลมคม ทั้งเศษแก้วแตกกระจกแตก รั้วลวดหนาม หรือแม้แต่หมามุ่ยมากองรวมกันตามทางให้เขาก้าวเดินซะอีก เราจะไม่ลงรายละเอียดนะว่าเขาจะต้องเจอชะตากกรรมอะไรบ้างเพราะมันจะเป็นการสปอยล์เกินไป บอกได้เพียงว่าสุดท้ายแล้ว Guna ก็ประสบความสำเร็จในเส้นทางความฝันของเขาได้ในที่สุด แต่สิ่งที่เขาต้องผ่านมาตามทางนั้นมันช่างโหดร้ายเกินใจจะอดทนจริงๆ

                                                            Source

สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดใน Natrang ไม่ได้อยู่ที่ฝีไม้ลายมือการแสดงของใครเลยสักคน แน่นอนว่านักแสดงแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ตามที่มันควรจะเป็น แต่บทหนังต่างหากที่สมควรได้รับความดีความชอบไปทั้งหมดเลย โอเคว่ามันอาจจะมีจุดรั่วบ้างเล็กน้อยที่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่อะไร แค่ทำให้เราเลิกคิ้วและร้องเอ๊ะออกมาเบาๆเท่านั้น ไม่ถึงกับขั้นหงุดหงิดว่าปล่อยผ่านมาได้ยังไงเนี่ย ส่วนเรื่องฉาก เสื้อผ้า หน้า ผม หรือของประกอบฉากต่างๆก็ทำได้ตามมาตรฐานแหละมั้ง ที่ต้องใช้คำว่า "แหละมั้ง" เป็นเพราะเราดูจาก YouTube ซึ่งภาพมันไม่คมชัดเท่าไหร่ เรียกว่าแอบเมื่อยตากันนิดนึง (แต่ก็ต้องทนเพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะดูได้แบบมีซับอิงค์ ณ ตอนนั้น) ก็เลยเก็บรายละเอียดในเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยได้ว่าทำออกมาได้ดีหรือแย่ขนาดไหน แต่เท่าที่ดูก็รู้สึกว่ามันสะท้อนภาพชีวิตชนบทของรัฐ Maharashtra ได้ดีเลยนะ ดูเผินๆเหมือนดูหนังพีเรียดเลยด้วยซ้ำ เพราะมันดูไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ เหมือนไม่มีความเป็นเมืองในยุค 2010 ซึ่งเป็นปีที่หนังออกฉายเลย ดูแล้วนึกถึงยุคมนต์รักลูกทุ่งบ้านเราเลยอะ หน้าตาคนแสดงก็ไม่ได้สวยหล่อแบบพิมพ์ Bollywood นิยมเลย หลายคนถมึงทึง นางเอกก็สวยแบบย้อนยุค หน้าคล้ายพวกดาวโป๊ดาวยั่วบ้านเราสมัยน้าแอ๊ด-สมบัติชอบก๊ล พี่พระเอกตอนที่ยังเป็นกรรมกรมีหนวดก็ดูขึงขังน่าเกรงขามดี เรียกว่าเห็นแต่ภาพนิ่งคงคิดว่ากูกำลังดูบางระจันเวอร์ชั่นอินเดีย แต่พอโกนหนวดออกรับบทกะเทยปุ๊บ โฮ้โห หน้าเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย นั่งเพ่งตั้งนานเลยนะว่ามันคนเดียวกันรึเปล่าวะ เออ งั้นคงต้องชมไว้ตรงนี้แล้วแหละว่าแต่งหน้าได้ดี และชม Atul พระเอกด้วยที่ต้องลดน้ำหนักจากตอนเป็นกรรมกรบึ้กๆตอนแรกมาเป็นผู้ชายในไซส์กะเทย

                                                                                  Source

อีกจุดนึงที่เราชอบมากก็คือฉากตอนที่ Guna กำลัง transform ตัวเองให้เป็นกะเทยน่ะ ตอนที่แต่งหน้าและแต่งองค์ทรงเครื่องในชุดกะเทยเป็นครั้งแรก เขานั่งหน้ากระจกแล้วสวมหมวกเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นภาพที่ดูทรงพลังมาก รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะการแสดง รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะตามความฝัน รู้สึกถึงความแน่วแน่ที่จะต้องรับบทกะเทยท่ามกลางเสียงคันค้านของครอบครัว ดนตรีที่ตัดมาประกอบก็ข่างเร่งเร้าสุดๆ ฉากนี้ดูแล้วซี้ดปากเลย

อยากฝาก Natrang เอาไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกคนด้วย ใครที่มีความฝันแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างหรือยังไม่เริ่มลงมือทำเป็นชิ้นเป็นอัน ควรหามาดู ใครที่เริ่มลงมือกับความฝันแล้วแต่กำลังท้อกำลังเจอขวากหนาม ก็ยิ่งต้องหามาดู ดูชีวิตของ Guna เอาไว้ ดูแล้วสู้ให้สุดเส้นทางความฝันแบบเขา สู้ให้มันรู้ไปเลยว่าสุดท้ายแล้วเราจะตามไปคว้าความฝันมาได้มั้ย





... แม้ท้อแท้สักกี่ทียังมีหวัง
แม้พลาดพลั้งสักกี่ครั้งยังฝันไกล ...



Thursday 27 August 2015

Haider


Haider เป็นหนัง Bollywood ที่เข้ามาฉายในบ้านเราเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เราไม่ได้ดูโรง คิดแล้วก็เสียดายมากเหมือนกันที่พลาด ผู้กำกับเรื่องนี้คือ Vishal Bhardwaj ที่รับหน้าที่เขียนบทและวางเค้าโครงเรื่องด้วย ซึ่งเค้าโครงของมันเขาได้ดัดแปลงมาจากผลงานก้องโลกของ William Shakespeare อย่าง Hamlet แต่ด้วยความที่เราไม่สันทัดในการตีความเปรียบเทียบ การรีวิวครั้งนี้เราจะลืมกันไปเลยว่า Haider ถูกนำมาตีความในรูปแบบใหม่แล้วจะต่างจากบทละคร Hamlet อย่างไร หรือมีการพูดถึงปม odipus แบบไหน หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบกับ Hamlet เวอร์ชั่นก่อนๆ ขอให้อ่านรีวิวโดยคิดเสียว่าหนังมันก็เป็นแบบนี้ของมันเองแต่แรกอยู่แล้ว มีจุดดีและจุดด้อยในตัวของมันเองดีกว่าที่จะต้องเอาไปเปรียบเทียบกัน

                                                                                                                                   Source


ถ้าจะให้เราสรุปคร่าวๆว่าโครงเรื่องของ Haider คืออะไร ... Haider Meer เป็นนักศึกษาหนุ่มที่กำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่แคว้นแคชเมียร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย พ่อแม่ของเขาส่งให้ไปเรียนที่เมืองทางใต้ ในตอนนั้นเองมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นที่นั่น มีทหารออกมาปกครอง มีการประท้วง นองเลือดต่างๆมากมาย สุดท้ายพ่อของ Haider หายไปอย่างไร้ร่องรอย Haider รู้เรื่องทันทีที่กลับมา แถมยังพบว่าแม่ของตัวเองกำลังจะแต่งงานกับอาแท้ๆ เขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขาตั้งใจจะตามหาพ่อให้เจอให้ได้ แต่ก็ได้รับข้อมูลจากชายผู้หนึ่งที่อ้างว่าพ่อของเขาได้ฝากข้อความไว้ให้แก้แค้นให้พ่อด้วย พ่อของ Haider ตายแล้วและคนที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คืออานั่นเอง เราจะไม่เล่าต่อว่าเขาจะจัดการกับแม่และอาในรูปแบบไหนหรือว่าเขาจะทำสำเร็จหรือเปล่า ให้ไปติดตามผลกันเอาเอง สิ่งที่จะพูดต่อจากนี้ไปคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงสมควรหาหนังเรื่องนี้มาดู

อันดับแรกเลย art direction สวยงามมากๆ สำหรับคนไทยทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียมากนักก็อาจจะติดภาพเมืองที่ค่อนข้างสกปรก ร้อนตับแตก มีคนจน มีวัวควายเดินร่อนเมือง น้ำเน่า ขยะกองตามทาง แต่ใน Haider เราจะได้เห็นความงดงามของเมืองหนาวทางเหนือ หิมะและความหนาวเหน็บที่สร้างความรู้สึกเหงาหม่นได้อย่างบอกไม่ถูก ด้วยความที่มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นที่นั่น มีการสู้รบกันเนืองๆ เราก็จะสามารถเห็นถึงความสกปรกและซากปรักหักพังที่เป็นผลพวงของการสู้รบด้วย แต่มันก็ไม่ใช่ความสกปรกแบบเดียวกับที่คนส่วนมากจินตนาการถึงอินเดียหรอกนะ

                                                                                 Source

ลูบหลังกันให้ดีใจก่อนในย่อหน้าที่แล้ว ต่อจากนี้จะเริ่มตบหัวแล้วละ ข้อเสียที่เราไม่ชอบที่สุดใน Haider ก็คือตัวเนื้อเรื่องไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ดูที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับปัญหาในแคว้นแคชเมียร์เลย ดูไปก็คิดไปว่าไอ้ฝ่ายไหนมันคือฝ่ายถูก ฝ่ายไหนคือคนผิด เหตุการณ์ทั้งหมดมันเริ่มจากอะไร อินเดียต้องการอะไร ปากีสถานเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง แล้วคนในแคชเมียร์เองละต้องการเป็นอิสระจากอินเดียหรือเปล่า หรือพวกเขาอยากได้อะไรกันแน่ คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวต่างประเทศย่อมไม่มีทางเข้าใจได้แจ่มแจ้งแน่ๆว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ซึ่งตรงนี้มันส่งผลต่อความรู้เรื่องในการดูมากพอสมควรเลย มันทำให้เราไม่รู้ว่าตัวละครไหนอยู่ฝั่งดีหรือฝั่งเลว คนผิดคือใคร เขาผิดจริงมั้ย สมควรได้รับชะตากรรมนั้นๆหรือไม่ ถึงแม้ว่าประเด็นของเรื่องจะถูกเทน้ำหนักไปที่การแก้แค้นของ Haider เสียมากกว่าก็ตาม แต่มันก็ทำให้คนดูอย่างเราอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่พ่อของเขาเคยทำไปนั้นดีหรือร้าย แล้วอาที่ดูเหมือนจะร้ายละ จริงๆเขาอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง (ของความขัดแย้งทางการเมือง) แล้วหรือเปล่า


หลังจากตบหัวไปฉาดใหญ่ก็กลับมาชื่นชมในบทบาทการแสดงของ Shahid Kapoor กันต่อ อาจจะเป็นเพราะเราเป็นติ่งเขาก็ได้มั้งเลยปลื้มการแสดงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ แต่ถึงยังไงเขาก็ได้รับรางวัลการันตีมากมายจากบท Haider นี่แหละ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเขา โดยปกติแล้ว Shahid มักจะได้รับบทแนวผู้ชายหล่อ น่ารัก หวานๆหน่อย ติดทะเล้น แต่ก็บู๊เก่ง บทบู๊เว่อร์ๆสไตล์ยี่สิบรุมหนึ่งยังรอดอะไรแบบนี้ละ สมกับฉายา chocolate boy ที่ได้มามากๆ แต่กับบทบาทของ Haider กลับต่างจากผู้ชายน่ารักน่าหลงใหลที่คุ้นเคยชนิดหน้ามือเป็นหลังตรีนก็ว่าได้ พัฒนาการด้านอารมณ์ของ Haider มันจะค่อยๆไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆจากตอนต้นเรื่อง ไต่ไปจนพีคคล้ายคนเสียจริต ร้องไห้ขี้มูกยืดย้อยไปหลายรอบแบบไม่ห่วงหล่อ พูดคนเดียวหลายนาทีด้วยท่าทางที่หลอนๆเสียจริต แถมโกนหัวอีกตะหาก ไม่เหลือคราบ chocolate boy ที่เราเคยหลงใหลเลย จากที่คนเคยพูดกันว่าหนัง Kaminey (ของผผก.คนเดียวกันนี้) เป็นหนังที่เปลี่ยนชีวิตการแสดงของเขาให้เข้มข้นขึ้น ตอนนี้คงต้องลบใหม่แล้ว เป็น Haider นี่ละที่เปลี่ยนอย่างแท้จริง กับฉากที่แสดงเต้นในงานแต่งของแม่กับอาก็เป็นอะไรที่น่าจดจำมากเช่นกัน เพราะมันต้องทั้งเต้นไปด้วยและแสดงสีหน้าแววตาไปด้วยพร้อมๆกัน เนื้อหาของเพลงที่ Haider เลือกแสดงเหมือนเป็นการแฉเรื่องราวของหญิงร้ายชายชั่วอะไรประมาณนั้น ไม่ใช่การที่ออกมาเต้นสลับฉากตามรูปแบบการเต้นในหนังอินเดียทั่วไป เป็นการเข้าเพลงไปเต้นแบบมีเหตุอันสมควรว่ายังงั้นเถอะ เพลง Bismil ที่ใช้ประกอบก็เจ๋งมากๆ ดุดันแต่งดงาม ติดหูซะจนเราเอามาทำริงโทนเลยทีเดียว โอเค เรากลับมายอคุณพระเอกกันต่อ ส่วนตัวคงต้องบอกว่าการแสดงของเขาคือส่วนที่ดีที่สุดของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

                                                Source

ตัวแสดงคนอื่นๆก็มองข้ามไปไม่ได้เหมือนกันนะ เริ่มที่ Tabu ผู้รับบทแม่ของ Haider เป็นผู้หญิงที่ยังดูไม่แก่มากเท่าไหร่ พูดตรงๆต้องบอกว่าหน้าอ่อนเกินกว่าจะมีลูกเรียนมหาลัย (นี่หล่อนท้องมันตอนอายุเท่าไหร่ ฮึ) ดูมีความเย่อหยิ่งที่แฝงไว้ด้วยความหวานเศร้าและอ่อนแออยู่ลึกๆ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีความตอแหร๋บางอย่างในตัวที่เก็บซ่อนไม่มิดยังไงก็ไม่รู้สิ และความตอฯอันนี้ของเธอก็ยั่วประสาทเราและยั่วประสาท Haider ได้เป็นอย่างดี อ้อ ในรอบแรกที่เราได้ดูเรายังจับไม่ได้ถึงประเด็นปม odipus นะ แต่พอเราได้ดูรอบสอง เราก็สังเกตเห็นในฉากที่ Haider ใส่น้ำหอมให้แม่ แล้วชมว่าแม่สวยมากพร้อมกับรำลึกความหลังกันว่าตอนเด็กๆเคยพูดว่าโตขึ้นจะแต่งงานกับแม่ สีหน้าท่าทางของ Shahid กับ Tabu ทำเอาเราขนลุกขนพองไปเลย จำได้แม่นว่าเบ้ปากเป็นสระอิคว่ำโดยรู้ตัว 

                                                                                 Source

สำหรับอีกคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ Irrfan Khan ถึงแม้ว่าบทของเขาจะไม่ได้เด่นมากในเรื่องนี้ (เป็นชายผู้ส่งข่าวของพ่อ) แต่การแสดงของเขาก็ทรงพลังทุกครั้งที่โผล่มาในฉาก ตอนแรกก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเขาจะเลือกเบอร์ใหญ่ขนาดนี้มารับบทนี้ เพราะดูเผินๆเหมือนบทมันไม่ได้สำคัญอะไรมากนัก แต่พอได้ดูจริงๆก็สำคัญอยู่พอสมควรเลย ซึ่งการแสดงของเขาใน Haider จัดเป็นงานประเภท less is more โดยแท้

                                                                                  Source

มาถึงตัวร้ายของเรื่องกันบ้างที่ได้ Kay Kay Menon มารับบทนี้ ส่วนตัวเราว่ามันเป็นบทร้ายแบบนิ่งๆนะ เหมือนร้ายหลบใน ร้ายหน้านิ่ง ร้ายไม่โจ่งแจ้ง ซึ่งมันทำให้ไม่น่าหมั่นไส้เท่าที่ควร ลามไปถึงขนาดที่ทำให้คนโง่แบบเราแอบงงเหมือนกันว่าตกลงอิตัวนี้มันร้ายแน่มั้ยวะ แล้วร้ายแค่ไหน เทียบกันกับบทแม่ของ Haider เราว่ายัยตัวแม่ดูน่าตบกว่าอาเยอะเลย

                                                                                  Source

คนสุดท้ายที่จะขอพูดถึงก็คือ Shraddha Kapoor กับบทของ Arshia หญิงคนรักของ Haider เราเคยดูงานของเธอมาก่อนที่จะได้ดู Haider แค่เพียงเรื่องเดียวคือ Ek Villain ในเรื่องนั้นบทบาทของเธอใสๆ ดูเป็นผู้หญิงคิดบวก แต่บทบาทใน Haider นี้ดูเป็นตัวละครที่เติบโตขึ้นมาก เป็นผู้หญิงที่นิ่งขึ้น ไม่ได้ลั้ลลาอย่างเก่า ใช้ชีวิตแบบมีมิติที่ซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ มีบทเข้าพระเข้านางที่วาบหวิวกว่าเดิมดีด้วย เป็นการคืนกำไรให้แก่คนดูอย่างเรา (ที่ไม่ได้สนใจนางเลย จ้องแต่ Shahid และอดใจไม่มโนเอาหัวตัวเองไปใส่แทนที่หัวนางก็บุญเท่าไหร่แล้ว ฮ่าๆ) การแสดงของเธอถือว่าสอบผ่านเลยแหละ

                                                                                  Source

สิ่งที่คนดูจะได้รับจาก Haider คือพลังของการแสดงเป็นหลักเลยก็ว่าได้ รองลงมาก็คือความสวยงามของฉากและสถานที่ ตัวไดอะล็อกเองก็ดีนะ เราซื้อ dvd ดู เสียงในฟิล์มเป็นภาษาฮินดี มีซับอังกฤษ ขนาดว่าเราฟังฮินดีได้แค่บางคำก็ยังรู้สึกว่าคำที่เขาเลือกใช้มันคมมาก อ้างอิงจากการแปลมาเป็นซับอังกฤษนี่แหละ ในส่วนของการเอาโครงเรื่องจาก Hamlet ทำใหม่ในบริบทของอินเดียและปมปัญหาของแคว้นแคชเมียร์ไม่ใช่อะไรที่จะต้องไปใส่ใจมากก็ทำให้ดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก เราเชื่อว่างั้นนะ คนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบทละครเรื่อง Hamlet มันเกี่ยวกับอะไรก็สามารถดูได้แบบไม่ต้องคิดมากเลย




Tuesday 16 June 2015

Rab Ne Bana Di Jodi

เมื่อต้นปีเราได้ซื้อแผ่น DVD รวมหนังอินเดียยอดฮิตแบบ 5 in 1 มาแผ่นนึง เป็นแผ่นหนังของค่าย EVS ที่แทบจะเป็นเจ้าเดียวในไทยเลยก็ว่าได้ที่เอาหนังอินเดียมาขายแบบพากย์ไทย ใน 5 เรื่องนั้นมีหนังของ Shahrukh Khan อยู่ถึง 3 เรื่องด้วยกัน แต่เรื่องที่โดดเด่นเตะตาจนทำให้เราต้องเลือกมาดูเป็นเรื่องแรกเลยก็คือ Rab Ne Bana Di Jodi หรือที่เรียกในชื่อไทยว่า แร็พนี้เพื่อเธอ (ตอนเห็นชื่อไทยครั้งแรกลมแทบจับ รู้สึกเห่ยมาก แต่พอมาคิดดูดีๆเหมือนคนตั้งจงใจเล่นคำว่า rab กับ แร็พ และคำว่า ne กับ นี้ มากกว่า พอนึกไปนึกมากลายเป็นเก๋ซะงั้น) ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับนางเอก Anushka Sharma นั่นเอง


                                         source

หน้าหนังดูเหมือนหนังเต้นทั่วๆไปนี่แหละ ทั้งที่เราก็รู้ดีอยู่แล้วว่าไม่ว่าพี่แกจะบู๊ จะรัก จะชีวิตรันทดหดหู่ แม้แต่จะไซไฟ พี่อินเดียแกก็ต้องออกมาร้องมาเต้นกันกระจายตลอดเวอยู่แล้วตามธรรมเนียม แล้วนี่ยิ่งเป็นหนังเต้นด้วย มันจะเต้นกันระเบิดระเบ้อขนาดไหนละ จริงปะ แต่ Rab Ne Bana Di Jodi ไม่ใช่แค่เท่านั้นหรอกนะ มันคือหนังรักที่อบอุ่นละมุนละไม และแฝงมุมตลกๆบ๊องๆเอาไว้ด้วย แถมมีฉากบู๊ระดับอ่อนพอกรุบกริบ มีคำคมที่กระตุกใจให้คิดทบทวนถึงการที่เราจะรักใครสักคน ต้องชมเลยว่าบทดีมากจริงๆ ขนาดเราดูแบบพากย์ไทยนะยังรู้สึกว่าบทดีขนาดนี้ แต่ข้อเสียข้อใหญ่เลยก็คือคนพากย์นางเอกพากย์ได้แย่มาก พากย์เหมือนเป็นนางเอกมือใหม่ ดูเกร็งๆชอบกล ตอนหลังได้มีโอกาสดูเสียงในฟิล์มที่มีซับอังกฤษนี่คนละฟีลเลย ดีกว่ากันมากเลยอะ มากจนต้องทึ่งว่าเฮ้ยนี่คือหนังเรื่องแรกของ Anushka เหรอเนี่ย ในขณะที่เสียงภาษาไทยฟังแล้วได้ฟีลมือใหม่จริงๆ




แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวงคือการแสดงของ SRK ในเรื่องเขาต้องรับบทบาทที่แตกต่างกันเกือบสิ้นเชิง ในช่วงแรกของหนังเขาเป็นแค้ผู้ชายเฉิ่มๆที่ชื่อสุรินเดอร์ และเขาหลงรักตานี ลูกสาวคนสวยของอาจารย์ที่เขานับถือ (ช่วงแรกๆเราฟังชื่อแล้วจั๊กจี้หูทุกที ยังกับผีตานี) อาจารย์ปลื้มศิษย์รักคนนี้มากถึงกับชมให้ลูกสาวคนสวยฟังไม่ขาดปาก ตอนนั้นเธอกำลังจะแต่งงานกับเจ้าชายที่เลือกเองในอีกไม่กี่วัน แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง รถขบวนที่ฝ่ายชายและครอบครัวเดินทางมาเพื่องานแต่งเกิดอุบัติเหตุและไม่มีใครเหลือรอดสักคน เรียกว่าตายกันยกครัว ทันทีที่ตานีรู้ข่าวเธอเสียใจมาก พ่อเธอเองก็เกิดอาการสงสารลูกสาวจนหัวใจวายเฉียบพลันขึ้นมาซะงั้น อาการหนักขึ้นมาอีกคนจนถึงขั้นที่คิดว่าตัวเองคงไม่รอด 'จารย์แกเลยตัดสินใจฝากผีฝากไข้ลูกสาวคนเดียวไว้กับสุรินเดอร์ แกอยากให้แต่งงานกันเพื่อที่ตานีจะได้มีผู้ชายดีๆมาดูแล ทั้งศิษย์รักและลูกสาวก็ไม่ขัดใจ ตานียอมแต่งงานตามคำขอร้องของพ่อและย้ายไปอยู่กับเขาที่เมืองอัมริตสา

ฉากนึงที่เราประทับใจมากก็คือตอนที่ทั้งสองเดินเข้าบ้านที่นั่น ผู้ชายเฉิ่มๆอย่างสุรินเดอร์เอาน้ำมาราดตรงธรณีประตูด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมอะไรสักอย่าง แต่ลีลา ท่าทาง สีหน้าของ SRK ทำให้เรารู้สึกว่าผู้ชายเฉิ่มๆแบบสุรินเดอร์นี่ละที่รักตานีจากใจจริง ฉากนี้ทำเอาเราได้ยินเพลงโปรดจงตัดสินใจ จากอัลบั้มผู้ชายเฉิ่มๆของพี่บ็อบ-ทูน ลอยขึ้นมาในหัวเลย (ฮ่าๆ โคตรเช็คอายุอะ ทันเพลงนี้เนี่ย) ชอบฉากนี้ที่สุดในเรื่องเลยก็ว่าได้ ทั้งที่มันก็ไม่ใช่ฉากสลักสำคัญอะไรเลย

จากการสูญเสียทั้งสามีและพ่อไปในแทบจะวันเดียวกัน มันส่งผลให้ตานีเสียศูนย์มาก เธอใช้ชีวิตแต่งงานใหม่อย่างซังกะตาย ไม่ได้มีความสวีทหวานชื่นแบบที่ควรจะเป็น สุรินเดอร์เองก็รู้ตัวดีว่าเธอแต่งงานเพื่อให้พ่อตายตาหลับ เขาถึงกับขนาดยอมอัปเปหิตัวเองไปนอนห้องใต้หลังคาด้วยซ้ำ แล้วยกห้องเดิมของเขาให้ตานีอยู่คนเดียว หัวใจของเธอแหลกสลายจนเธอคิดว่าคงไม่สามารักใครได้อีกแล้ว เธอบอกกับเขาอย่างนั้น ซึ่งเขาก็เข้าใจดีจึงไม่ได้เร่งรัดอะไรเธอเลย ถึงอย่างนั้นตานีเองก็สัญญาว่าจะทำหน้าที่ดูแลบ้านเรือนรวมทั้งอาหารการกินให้เป็นอย่างดี เธอทำปิ่นโตอาหารเที่ยงให้เขาทุกวัน สุรินเดอร์เองก็พยายามเอาใจภรรยาอยู่ไม่ขาด ทั้งพาไปดูหนัง ทั้งถอยรถเก๋งใหม่ฮุนไดสีเหลือง ความสุขเดียวของตานีที่เขาพอจะสังเกตได้ก็เห็นจะเป็นการดูหนัง ที่เธอดูจะปลื้มบรรดาพระเอกพวกนั้นอยู่ไม่น้อย

เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อตานีไปเจอโรงเรียนสอนเต้นเปิดใหม่ในเมือง เธอยังคงเป็นภรรยาที่ดีโดยการขอความเห็นชอบจากสามีก่อน สุรินเดอร์เองก็ตามใจภรรยา เอาเงินมาให้ลงเรียนอย่างง่ายดาย ตอนนี้เองที่เขาเกิดความคิดอุตริขึ้นมาว่าจะปลอมตัวเป็นใครสักคนที่จะทำให้ตานีมีความสุขขึ้นได้บ้าง ใครสักคนที่ไม่ใช่หนุ่มแว่นทำงานการไฟฟ้าที่แสนน่าเบื่ออย่างเขา ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนเก๋ย์เจ้าของซาลอน เขาจึงแปลงร่างเป็น ราช คาร์ปูร์ หนุ่มทะเล้น เจ้าเสน่ห์ แต่งตัวจัด และไปลงเรียนเต้นกับเธอ

เหมือนอย่างที่สุรินเดอร์ได้พูดกับเพื่อนว่าพระเจ้าเริ่มขีดเขียนเรื่องราวความรักระหว่างเขากับตานีแล้ว ครูสอนเต้นได้จัดกิจกรรมให้นักเรียนจับคู่กันเต้นตามหมายเลขที่ได้แจกให้ไป และทั้งสองคนก็ได้คู่กัน จากนั้นสุรินเดอร์ในคราบของราชก็ใช้ลีลายียวน เจ้าชู้ มอบความสดใสให้กับตานีทุกวัน จนตานี่เริ่มหลงรักเขาในที่สุดและเธอก็รู้สึกผิดระคนกันไปเพราะเธอเองคือหญิงที่แต่งงานแล้ว เธอมีการตัดสินใจครั้งใหญ่รอเธออยู่

เรื่องราวจะดำเนินต่อไปแบบไหนเราคงไม่เล่าต่อละนะ ทิ้งไว้ให้ไปติดตามกันเอาเอง แต่ในหนังมีคำพูดอยู่คำนึงที่ทำให้เราต้องย้อนถามตัวเองอยู่เหมือนกัน คำพูดนั้นคือ "ผมเห็นพระเจ้าในตัวคุณ" มันเป็นคำพูดที่สุรินเดอร์บอกแก่ตานี มันไม่ใช่คำพูดที่ฟังดูหวานแหววหรือชวนเลี่ยนอะไรเลย แต่มันฟังดูยิ่งใหญ่มากจริงๆ ยิ่งใหญ่เท่าที่มนุษย์คนนึงจะรักมนุษย์อีกคนได้ ถ้าเรารักใครสักคนเราจะมองเห็นพระเจ้าในตัวเขามั้ยนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เชื่อในพระเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าคุณมีความสัมพันธ์ มีคนที่คุณรัก ก็ลองถามตัวเองแบบนี้ดูสิ