Friday, 10 June 2016

Lakshmi

อย่างที่เราเคยพูดไว้บ่อยๆว่าหนังที่เราชอบมักจะเป็นหนังที่นำเสนอประเด็นหนักๆ มีความเข้มข้น ความเครียด มีความดราม่าในโชคชะตาชีวิตหรือสถานการณ์ที่ตัวละครหลักต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่ง หนังไทย หรือแม้แต่หนังอินเดียสุดโปรดก็ตาม และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งนึงที่เราจะแนะนำหนังอินเดียที่โดนแบนในประเทศตัวเองให้ได้รู้จักกัน

                                                        Source

Lakshmi เป็นหนังบอลลีวู้ดที่สร้างมาจากเรื่องจริง บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาววัย 13 ปีที่ถูกพ่อบังเกิดเกล้าขายให้กับแม่เล้าเพื่อไปทำงานค้าบริการ เรียกง่ายๆแบบภาษาไทยก็คือตกเขียวนั่นเอง นำแสดงโดย Monali Thakur นักร้องสาวที่ผันตัวเองมาเป็นดารา ความหดหู่ไม่ได้จบแค่การที่พ่อขายลูกเข้าซ่องเท่านั้น แต่ก่อนที่เธอจะถูกส่งถึงมือแม่เล้าเธอต้องไปพักที่บ้านนายทุนเจ้าของธุรกิจค้ากามหญิงสาวก่อน และที่นั่นเองที่เธอโดนประเดิมโดยไอ้แก่หัวล้านนายทุนคนที่ว่า ชะตากรรมของ Lakshmi หลังจากที่โดนขายเข้าซ่องมาแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับหญิงค้าบริการอื่นๆ เธอต้องรับแขกไม่รู้กี่คนต่อวัน ติดโรค ไข้ขึ้น นอนซม จนในที่สุดมีทีมนักสังคมสงเคราะห์พาตำรวจไปบุกทะลายซ่องและช่วยหญิงค้าบริการที่นั่นออกมาจนหมดและพบว่า Lakshmi เป็นผู้เยาว์คนเดียวในที่นั้นจึงแนะนำให้ฟ้องศาล เธอทั้งอดทนและเข้มแข็ง แม้จะรู้ว่ามันยากแค่ไหนกับการที่จะชนะคดี เจอทั้งคำขู่ เจอทั้งการติดสินบนให้ล้มคดี แต่เธอและทนายก็ไม่ยอมแพ้ ร่วมกันต่อสู้จนเอาชนะได้ในที่สุด

                                                                                        Source

ความดีงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การเอาชีวิตจริงมาเล่า ทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาการตกเขียวที่ยังมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในประเทศอินเดียหรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนตัวชอบสีสันที่เลือกใช้ด้วย มันสด มันฉูดฉาด เหมือนจะเป็น symbolic ของผู้หญิงอาชีพพิเศษด้วยซ้ำ art direction ก็ดูดี แม้จะไม่ใช่หนังแถวหน้าที่มีดาราระดับแม่เหล็กหรือหนังทุนสร้างสูง แต่เนื้องานปราณีตไม่ต่างกับหนังเกรดเอเลย นักแสดงเองก็เป็นที่รู้จักอยู่ไม่กี่คน เอาที่เราเองจำหน้าได้จริงๆ ณ ช่วงเวลาที่ดูก็จะมี Monali และ Ram Kapoor ที่รับบททนาย นอกนั้นใครก็ไม่รู้ หน้าไม่คุ้นเท่าไหร่แต่ว่าแสดงกันถึงบทบาทดีมากจริงๆ แต่หลังจากดูหนังจบไปแล้วพักใหญ่ถึงมาค้นพบว่ายังมี Shefali Shah ร่วมเล่นด้วย และบทที่เล่นคือแม่เล้า โอววว อึ้งไปเลย

                                                       Source

อีกอย่างที่น่าแปลกใจในหนังก็คือการ cast ดารานำ ณ ปีที่ Monali รับเล่นหนังเรื่องนี้เธอน่าจะมีอายุประมาณ 27-28 ปี ไม่น่าเชื่อว่าทีมผู้สร้างตัดสินใจเอาคนอายุจ่อหลักสามรอมร่อมารับบทเด็ก อายุ 13 ได้ ครั้งแรกที่เราเห็นภาพ Lakshmi ในหนังเราก็รู้สึกว่าทำไมเด็กคนนี้ดูเป็นเด็กโข่งพิกล ดูแล้วเหมือนคนที่ผิดปกติโตแต่ตัวแต่พฤติกรรมเหมือนเด็ก 11-12 อะไรแบบนี้มากกว่า เพราะอายุ 13 มันก็วัยรุ่นแล้ว แต่เรากลับไม่รู้สึกว่า Lakshmi เป็นวัยรุ่นเลย ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะความเป็นชาวบ้านชนบทก็ได้ที่เด็กจะดูโตช้ากว่าเด็กที่อาศัยในเมือง มันเลยได้ฟีลลิ่งแปลกๆในการดู เอาผู้หญิงวัยยี่สิบปลายมาเล่นเป็นวัยรุ่นแต่กลับออกมาเหมือนผู้หญิงที่โตแต่ตัวแต่พฤติกรรมกลับไม่สอดคล้องไปตามวัย แทนที่จะดูเหมือนวัยรุ่นอย่างที่ควรจะเป็น แต่พอดูไปเรื่อยๆความเข้มข้นของเนื้อเรื่องก็ทำให้เราลืมจุดนี้ไปเองเพราะมัวไปโฟกัสอยู่ที่ความดราม่าในโรงในศาล

มีฉากที่พีคอยู่ฉากนึงใน Lakshmi เราเชื่อนะว่าถ้าใครได้ดูจะต้องย้อนถามตัวเองเหมือนกัน มันเป็นฉากที่ลูกสาวของแม่เล้ารู้ความจริงว่าแม่ของตัวเองทำงานอะไรกันแน่ เป็นการพบความจริงแบบไม่บังเอิญเท่าไหร่ มีพวกแมงดาคุมซ่องเข้ามาเกี่ยวพันด้วย ทำให้เธอต้องพลอยมารับรู้ความจริงที่ทุเรศอันนี้ทั้งๆที่แม่ปกปิดเธอมาตลอด ลูกสาวอึ้ง สับสน และเสียใจมาก เธอพูดขึ้นมาคำหนึ่งว่าเงินที่เธอใช้เรียนหนังสือใช้จ่ายอย่างมีความสุขทุกวันนี้มาจากเงินที่แม่ทำสิ่งพวกนั้นกับชีวิตเด็กสาวและผู้หญิงคนอื่นๆงั้นเหรอ เออ เราฟังแล้วย้อนถามตัวเองเลยนะว่าถ้าเราเป็นเธอเราจะรับได้มั้ย เราจะรู้สึกยังไงบ้างที่เงินที่เราจับจ่ายใช้สอยทุกวันนี้มันแลกมาด้วยคราบน้ำตาและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราจะยังสามารถรักและศรัทธาแม่ตัวเองได้มั้ยถ้าพบว่าแม่เรามีอาชีพที่ ... จะใช้คำว่าอะไรดีวะ อืมม ส่วนตัวต้องบอกว่าน่าอายกว่าการเป็นพนักงานดูดส้วมซะอีก สำหรับเรานะ หนังที่สามารถสร้างคำถามหรือสร้าง impact แรงๆแบบนี้ให้เราได้คือหนังที่จัดว่าดีเลยแหละ


อีกซีนนึงที่จำติดตาไม่แพ้กันก็คือฉากที่ Lakshmi ขึ้นศาล เธอต้องให้การต่อศาลว่าเธอโดนไอ้หัวล้านเจ้าของซ่องนั่นกระทำอะไรต่อเธอบ้าง แล้วไอ้ทนายส้นตีนของฝั่งนั้นก็พยายามจะใช้คำถามที่เบี่ยงเบนประเด็นให้ เหมือนกับว่าลูกความตัวเองแค่ลวนลามแต๊ะอั๋งนิดๆหน่อยๆพอหอมปากหอมคอ ไม่ได้ข่มขืนซะหน่อย ซึ่งศาลก็ต้องการรับฟังจากปาก Lakshmi เองนั่นแหละว่าสิ่งที่เธอเจอจริงๆคืออะไร แน่นอนว่าในคดีข่มขืนแบบนี้ผู้เสียหายจะต้องพูดทุกอย่างแบบหมดเปลือกว่าไอ้ชายชั่วพวกนั้นมันทำระยำตำบอนอะไรกับร่างกายของเธอบ้าง มันโคตรจะเป็นบาดแผลในใจเลยนะ คงไม่มีใครอยากจะนึกถึง แค่จะพูดเล่ากับเพื่อนสนิทก็ยังไม่อยากจะเอ่ยคำแล้วเลย นับประสาอะไรกับพูดต่อหน้าธารกำนัลอย่างในศาลแบบนั้น เราเองไม่เคยมีประสบการณ์หนักแบบนั้นหรอก แต่สมัยเรียนต่างประเทศเราเคยโดนลวนลามทางคำพูดจากไอ้อ้วนโรคจิตที่ต่อแถวข้ามถนนข้างหลังเรา วันนั้นเราไปช็อปปิ้งกับรุ่นน้องผู้หญิงคนนึงในเมืองและเรากับน้องกำลังจะข้ามถนนไปที่ห้างอีกฝั่ง ระหว่างที่รอไฟแดงอยู่ก็มีไอ้อ้วนคนท้องถิ่นมาพูดพึมพำอะไรข้างหลังเรา ตอนแรกเราฟังไม่ชัด เราก็เลยหันไปมอง ทีนี้เลยเห็นปากมันถนัดและได้ยินเสียงที่ชัดขึ้นด้วย เชี่ยเอ๊ยยย แค่เราพิมพ์เล่าพวกคุณอยู่เนี่ยเราก็พิมพ์ไม่ได้แล้วว่ะ แม่งโคตรขยะแขยงเลย ทั้งๆที่เราเป็นคนหน้าด้านใช้ได้อยู่นะ แต่นึกขึ้นทีไรมันก็รับไม่ได้จริงๆ คือมันพูดถึงว่าเราทำอะไรกับมันในลักษณะไหนนั่นแหละ รู้แค่นี้ละกัน ทีนี้น้องเขาไม่ได้ยินชัดเท่าเรา เขาคิดว่ามันพ่นด่าคนเอเชียตามประสาพวกเหยียดผิว เราเลยต้องบอกน้องว่าไม่ใช่เว้ย แม่งพูดทำนองอย่างงั้น น้องมันเลยถามว่าพูดคำว่าอะไร นั่นละ คิดดูว่าขนาดเป็นผู้หญิงด้วยกัน สนิทกัน กินนอนบ้านเดียวกัน เรายังไม่อยากเล่าซ้ำเลย มันติดหูติดตามาก หลอนโคตรๆ นึกถึงฝรั่งอ้วนๆวัย 40 กว่าตัวเหม็นๆออกปะ นั่นแหละ อ้อ แล้วที่แม่งหดหู่ยิ่งกว่านั้นคือตอนที่เราหันกลับไปมองมัน ผู้คนอื่นๆที่อยู่รอบตัวมันและเราก็เหมือนไม่ได้รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีใครรับรู้ว่ามีไอ้อ้วนหื่นกามกำลังพูดจาไม่ดีใส่ผู้หญิงคนนึง และมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ sexual harassment อยู่ตรงนั้นอีกหนึ่งคน น่าเศร้ามั้ยละ เราย้อนนึกถึงเรื่องราวตัวเองแล้วเข้าใจเหยื่อข่มขืนเวลาที่ต้องขึ้นให้การในชั้นศาลมากเลย อะไรหลายๆอย่างที่จะต้องพูดต้องเล่ามันไม่ง่ายเลยจริงๆ กับเราที่โดนลวนลามทางคำพูดยังเล่ายากขนาดนี้ แล้วคนที่โดนกระทำจริงๆจะยิ่งยากขนาดไหน

Lakshmi เป็นหนังที่ค่อนข้างหดหู่ มีความสิ้นหวังของผู้หญิงบริการที่เคยหาเงินได้ง่ายๆจากใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อสนองความใคร่ ง่ายซะจนการทำงานปกติอย่างอื่นมันยากเกินไป ยากจนท้อ ในที่สุดก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในวังวนเดิมๆอีกแม้ซ่องเดิมจะโดนปิดไปแล้ว เราดูแล้วโคตรหดหู่เลย สังคมเรามันเป็นอะไรกันไปหมด ถ้าการทำงานปกติมันยากเกินไปนี่ไปขอทานเขากินดีกว่ามั้ย ก็ไม่ต่างอะไรจากขายเรือนร่างตัวเองหรอก โดนดูถูกเหมือนกัน หรือว่าที่อินเดียประชากรขอทานมีเยอะแล้ว ทำมาหากินฝืดเคือง แต่การขายตัวนี่มีลูกค้ามาได้เรื่อยๆมากกว่า แบบนี้น่ะเหรอ เป็นหนังที่ดูแล้วทำให้นอนคิดฟุ้งซ่านกลับไปกลับมาได้ทั้งคืน คิดหาว่าใครผิด ผู้ชายที่มีความอยากไม่สิ้นสุดผิด ผู้หญิงที่งอมืองอตีนไม่ยอมทำงานอย่างอื่นผิด หรือพวกที่จับเด็กมาขายตัวผิด ไม่รู้จะโทษฝ่ายไหนดีจริงๆ

                                                                                        Source

ก่อนจบขอเตือนอีกนิดหน่อยว่ามีฉากหวาดเสียวอยู่บ้างแต่จะหวาดเสียวยังไงและขนาดไหนนั้นไม่ขอบอก อุบไว้ให้ไปลุ้นกันเอาเอง ตื่นเต้นดี สามารถหาดูได้ในยูทิวบ์นี่แหละ มีซับอังกฤษด้วย ย้ำอีกทีว่าหนังไม่ค่อยเหมาะสำหรับคนที่ใช้ชีวิตโลดแล่นสดใสอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ ณ ดินแดนฝรั่งเศสตอนใต้มาตลอดชีวิต เจอแค่ตอนที่พ่อแท้ๆขายลูกให้แม่เล้านี่คงช็อคจนปิดทีวีทิ้งแล้วมั้ง แต่สำหรับใครที่ชอบเสพย์หนังเครียดๆ หนังมีประเด็นปัญหาสังคมที่หนักหน่วง Lakshmi เป็นหนังอินเดียอีกเรื่องที่เหมาะกับคุณแล้วละ





Wednesday, 8 June 2016

Paa

เราจะให้คุณดูโพสเตอร์ของหนังบอลลีวู้ดเรื่องนึงด้านล่างนี้ก่อนนะ ดูจบแล้วลองทายดูว่าเด็กผู้ชายในหนังอินเดียเรื่องนี้คือดาราอินเดียคนไหน

                                                                                                          Source

ทายออกกันหรือเปล่า คุ้นหน้าคุ้นตาบ้างมั้ย ถ้ายังเดาไม่ถูกเราจะบอกให้ว่าดราที่มารับบท Auro เด็กชายวัย 12 ปีที่ป่วยเป็นโรคโพรจีเรียในหนัง Paa ก็คือดาราอาวุโสที่ชื่อ Amitabh Bachchan นี่เอง เป็นไงละ รู้แล้วทึ่งกันหรือเปล่า เพราะมันไม่ง่ายเลยในการที่เอาคนแก่วัย 60 ปลายๆ (ณ ช่วงเวลาถ่ายทำ) มารับบทเด็กที่เพิ่งเข้าวัยรุ่นแถมป่วยเป็นโรคที่หนักหนาเอาการซะอีกแบบนี้ แล้วยังต้องทำสุ้มเสียงให้ดูเป็นเด็กอีกแต่ก็ต้องดูเป็นเด็กที่ไม่ปกติเหมือนใครๆด้วย มันยากอยู่นะ

Auro
                                                                                                                         Source


ถ้าจะบอกว่า Paa เป็นหนังครอบครัวผสมดราม่าก็คงไม่ผิดนัก หนังพูดถึงชีวิตของเด็กชายวัยรุ่นที่ชื่อ Auro เป็นหลัก เด็กคนนี้ป่วยเป็นโรคโพรจีเรียซึ่งทำให้เขามีสภาพอย่างที่เห็น และสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาคือภายในร่างกายที่ระบบทุกอย่างมันทำงานก่อนวัย แก่กว่าวัย โรคภัยแบบคนวัยชราจะมาเยือนเขาไวกว่าเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน พูดง่ายๆว่าคนที่เป็นโรคนี้อายุไม่ยืนสักคน อยู่ได้ถึงหลักสองกลางๆก็นับว่าเก่งมากแล้วละ แต่ความจริงที่เป็นเกี่ยวกับโรคนี้ก็ไม่ได้ทำให้ Auro เป็นเด็กพิการที่ดูน่าสงสารแต่อย่างใด ลองคิดดูนะเด็กวัยรุ่นที่ปากดีเรียกยายตัวเองว่า bum (bum ในภาษาอังกฤษแปลว่าก้น Auro มองว่าตัวเองมีแม่ - mum แล้ว ยายที่ทำตัวเหมือนแม่คนที่สองจึงกลายเป็น bum ไปโดยปริยาย) นี่จะยังดูเป็นคนน่าสงสารอยู่อีกเหรอ เป็นเด็กแสบชัดๆเจ้า Auro นี่ แต่เจ้าหนูก็รักยายกับแม่มากนะเพราะชีวิตของ Auro โตมาด้วย 4 มือของผู้หญิงสองคนนี้แหละ อ้าวว แล้วพ่อ Auro ละไปไหน ความจริง Auro ก็มีพ่อแหละ ไม่งั้นจะเกิดมาได้ยังไง เพียงแต่ว่า Auro เป็นเด็กที่เกิดจากนักศึกษามหาวิทยาลัยในต่างแดน 2 คนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นพ่อแม่คน และด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาดและความเข้าใจผิด ทำให้พ่อของ Auro พูดบางสิ่งบางอย่างออกไปให้แม่เข้าใจว่าเขาไม่ต้องการรับเด็กเป็นลูก เธอมองว่าเขาห่วงอนาคตตัวเองมากกว่า นักศึกษารัฐศาสตร์ที่กำลังจะเรียนจบและกลับไปสานต่อเส้นทางการเมืองของครอบครัวจะต้องมาพังเพราะทำแฟนท้อง เขาเลยหวังให้เธอไปเอาเด็กออกสินะ ซึ่งความจริงเขาไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำแบบนั้นเลย ความเข้าใจผิดครั้งนั้นทำให้เธอผิดหวังมาก เธอเลือกที่จะตัดขาดกับเขาแต่เธอก็เด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง นักศึกษาแพทย์คนนี้เลือกที่จะเก็บเด็กไว้และยอมเรียนจบช้าลงอีกนิด และแล้ว Auro ก็ลืมตาดูโลกพร้อมกับโรคโพรจีเรียดังกล่าว โดยที่แม่ก็ไม่ได้ติดต่อกับพ่ออีกเลย Auro จึงใช้ชีวิตที่อินเดียกับแม่และยาย ทั้งสามสู้กับโรคและอาการผิดปกติกันไป

Auro is playing
                                                                                                                         Source

ดราม่าของชีวิตเจ้าหนู Auro ยังไม่จบเพียงเท่านั้น วันดีคืนดีกงล้อแห่งโชคชะตาก็ได้พัดพาให้พ่อของ Auro ที่ ณ ตอนนั้นเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาเจอกับ Auro จนได้ เรื่องของเรื่องคือที่งานโรงเรียนเขาเชิญนักการเมืองคนนี้ไปเป็นประธานเปิด งานและให้มีการเดินชมงานแสดงวิชาการของเด็กนักเรียน เจ้าหนู Auro ก็ส่งงานกับเขาด้วย แต่เป็นงานบ้าๆบอๆจากความขี้เกียจทำงานของตัวเอง คว้าอะไรได้ก็เอามาส่งแบบชุ่ยๆ (เห็นมั้ยว่าชีวิตเจ้าหนูนี่ไม่ได้ดูหดหู่น่าสงสารตรงไหนเลย) แต่คุณพ่อกลับมองว่างานชิ้นนี้ของเด็กคนนี้ช่างเยี่ยมยอดไปเลย เอกมโนโทจิ้นไปเองว่าเด็กเจ้าของชิ้นงานจะต้องวางคอนเส็ปท์อย่างงั้นอย่างงี้ อยากจะพบหน้าค่าตานัก แล้วทั้งสองคนพ่อลูกก็ได้พบหน้ากันโดยที่ต่างคนต่างไม่รู้ว่าคือสายเลือดเดียวกัน หลังจากที่แม่ Auro รู้ว่าพ่อลูกได้พบกันแล้วก็ค่อนข้างช็อคแต่ก็ยังปกปิดความลับนั้นไว้ไม่บอกลูกชาย อาาาาห์ สุดท้ายความลับจะแตกหรือไม่ นักการเมืองหนุ่มไฟแรงจะได้รู้หรือเปล่าว่าตัวเองมีลูกชายที่ไม่ค่อยสมประกอบ เขาจะยอมรับลูกได้มั้ย เจ้าหนู Auro จะรู้สึกอย่างไรที่ได้รู้ว่าคนๆนี้เป็นพ่อตัวเอง อันนี้เราให้ไปติดตามกันในหนังนะ ไม่มีวันยอมสปอยล์เด็ดขาด

Auro and dad
                                                                                                                      Source

สิ่งที่ดีงามสามโลกที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการ cast ตัวแสดง กิมมิคแรกคือเอาคนแก่วัย 60 กว่ามาเล่นเป็นเด็กที่ป่วยโรคแปลกๆ มีลักษณะทางกายภาพแปลกๆ ทำให้ต้องแต่งหน้ากันนานมาก ทีมแต่งหน้า effect ทำงานหนักมากที่จะแปลงโฉมปู่อมิตาปให้ออกมาเป็นเด็กโพรจีเรียหัวโตแบบนั้นได้ และปู่เองก็อดทนมากเช่นเดียวกันที่จะต้องนั่งแต่งหน้านานแสนนานแบบนั้นทุกครั้งที่เข้าฉาก ทีมแต่งหน้านี่ได้ทีมจาก Tinsley Studio ที่มีผลงานหนังฝรั่งดังๆเยอะแยะมาทำให้เลยเชียวนะ เรื่องการแสดงของปู่ไม่ต้องพูดถึง สบายหายห่วง เราว่ายิ่งปู่แก่ขึ้นก็ยิ่งเล่นหนังดีขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ดีกว่าตอนหนุ่มๆยุค Sholay หลายเท่าอะบอกตรงๆ กิมมิคที่สองคือเอาคนที่เป็นลูกในชีวิตจริงมาเล่นเป็นพ่อในหนัง ก็คือเอา Abhishek Bachchan ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของปู่แกเองมารับบทเป็นพ่อของเจ้าหนู Auro ในเรื่อง ดูแล้วเฮ้ย มันได้ มันใช่ น่ารักมากๆตอนที่สองพ่อลูกเต้นท่าลิงกังด้วยกัน ดูแล้วอบอุ่นในหัวใจเป็นบ้า ส่วนตัวชอบที่ Abhishek ได้เล่นบทดราม่าแบบนี้มากกว่านะ ปกติฮีจะรับเล่นหนังบู๊แอ็คชั่น ไม่ก็ตลกบ๊องไร้สาระ ซึ่งเราดูแล้วเบื่อมาก มาเล่นดราม่าแบบนี้ดีกว่าเยอะและจะได้พัฒนาฝีมือดีกว่าด้วย บทบาทของคุณแม่ Auro ก็ได้ Vidya Balan มารับไป เธอสวยแต่ไม่สวยเวอร์เกิน ดูเป็นคนฉลาดมีการศึกษาสมกับบทนักศึกษาแพทย์และหมอ เธอดูแกร่งและเข้มแข็งพอที่จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ลูกป่วยเป็นโรคแปลกๆด้วย

Auro's family
                                                                                                                         Source

อีกจุดนึงที่ชอบคือบทพูดในเรื่อง อาจจะเป็นจุดเล็กๆที่ไม่เป็นประเด็นสำคัญแต่เราชอบมากๆ มันเป็นตอนที่แม่ของ Auro รู้ว่าตัวเองท้องและไปสารภาพกับแม่ตัวเอง แม่ไม่ดุด่าว่ากล่าวหรือตบตีสักคำ สิ่งที่เธอทำคือถามว่าหนูจะเอายังไง จะเอาออกหรือเอาไว้แล้วแต่ลูกเลย ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไงแม่คนนี้พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน เราชอบบทตรงนี้มาก แม่ทุกคนควรจะเป็นให้ได้อย่างนี้เวลาที่ลูกสาวมาบอกว่าท้องทั้งๆที่ยังเรียนไม่จบ การโวยวาย ดุด่า ตบตี มันไม่ได้ช่วยอะไร รังแต่จะสร้างบาดแผลในใจและความร้านฉานเปล่าๆ ยายของ Auro ทำถูกแล้วละ

Auro's dad
                                                                                                                         Source

หนังยังเอาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองมาใส่ไว้ในเรื่องด้วยเพื่อถ่วงดุลน้ำหนักไม่ให้มันเศร้าหรือดราม่าครอบครัวจนเกินไป เราว่าตรงนี้เขาตัดสินใจถูกนะ มันทำให้เปลี่ยนอารมณ์ได้ดี และยังทำให้คนดูได้เห็นถึงชีวิตของพ่อ Auro ในความเป็นคนๆนึงด้วยว่าเขาเป็นคนแบบไหน มีวิธีการทำงานยังไง เป็นคนดีหรือไม่ดียังไงก็แล้วแต่คนดูจะตัดสินเอาจากซีนพวกนี้

                                                                                                                         Source

นอกจากข้อเสียข้อติที่เราไม่อาจหาได้อย่างชัดเจนแล้ว Paa ยังทำเราเสียน้ำตาตอน end credit อีกจ้า มันจะมีเพลงประกอบเพลงนึงที่เราไม่แน่ใจว่าเขาให้ปู่ร้องเองหรือเปล่า แต่เสียงมันก็คล้ายๆเสียง Auro ในเรื่องอยู่แหละนะ (แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่าปู่จะพากย์เสียงเอง เพราะเสียงจริงปู่ทุ้มใหญ่แต่เด็ก Auro เสียงหนีบๆ) เป็นเพลงที่ร้องให้พ่อ (paa แปลว่าพ่อ) เราดูแบบมีซับอังกฤษ ความหมายของเพลงและเสียงร้องสั่นๆของเด็กที่ป่วยเป็นโพรจีเรียมันทำให้น้ำตาเราไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัวเลย

สำหรับเรา Paa คือหนังอินเดียที่ดีมากอีกเรื่องนึงแต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือหยิบยกเอามาแนะนำกัน เรานี่แหละเลือกที่จะหยิบมาพูดถึงในวันนี้ เพราะมันเป็นหนังที่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ ลุ้น และเอาใจช่วยไปกับความแสบๆคันๆของเจ้าหนู Auro และทิ้งท้ายด้วยคราบน้ำตาจางๆหลังหนังจบ




Tuesday, 7 June 2016

Bangalore Days


หนังอินเดียไม่ได้มีแค่หนังจาก Bollywood หรอกนะ มันยังมีหนังจากภูมิภาคอื่นอีกมากมายและใช้ภาษาที่แตกต่างกันด้วย และวันนี้เราจะมาแนะนำหนัง Malayalam ให้รู้จักกัน หนังนี้เป็นหนังจากรัฐ Kerala หรือเรียกเป็นไทยง่ายๆว่าเกรละ แต่จะเป็นเรื่องอะไร เรามาติดตามไปพร้อมๆกันดีกว่า

Bangalore Days
                                                                                                             Source

 

Bangalore Days เป็นหนังที่เรียบง่าย ไม่มีความหวือหวามากนัก ตัวหนังพูดถึงชีวิตของคนหนุ่มสาวจากเกรละที่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองบังกาลอร์เพื่อค้นหาโอกาสชีวิตที่ดีกว่า หนุ่มสาวทั้ง 3 ชีวิตนี้ล้วนเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หนุ่มคนแรกชื่อ Kuttan รับบทโดย Nivin Pauly หนุ่มคนนี้ออกแนวใสซื่อเหมือนเด็กเนิร์ด ทำงานสายไอที เขาต้องการไปทำงานที่บังกาลอร์เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางไอทีของอินเดีย หนุ่มคนต่อมาชื่อ Arjun รับบทโดย Dalquer Salman หนุ่มคนนี้ออกแนวเสเพลนิดๆ ชอบแต่งรถ ซ่อมรถ แข่งรถ ชอบกราฟฟิตี้อีก ดูเฮี้ยวๆแสบๆจนบางทีผู้ใหญ่ระอา เขาก็อยากไปตามฝันที่บังกาลอร์เช่นกัน ท้ายสุดคือสาวคนเดียวของกลุ่ม เธอชื่อ Divya รับบทโดย Nazriya Nazim เธอแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่หาให้ที่รับบทโดย Fahadh Faasil และย้ายไปบังกาลอร์กับเขาเพราะคิดว่าจะเรียนต่อ MBA ที่นั่น หลังจากที่ทั้ง 3 หนุ่มสาวย้ายไปบังกาลอร์ก็ได้พบเจอผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาและเธอไปมากมาย

Bangalore Days Movie
                                                                                                                         Source

ด้วยความที่หนังมันเรียบอะนะก็เลยค่อนข้างจะเล่ายากสักหน่อยว่าอะไรมันไปยังไงมายังไง ครั้นจะเล่าหมดเลยก็จะกลายเป็นสปอยล์หนังไปเสียอีกเพราะมันก็มีจุด conflict ที่มีน้ำหนักพอสมควร เป็นปมชีวิตของตัวละครบางตัวที่ส่งผลกระทบต่อตัวละครตัวอื่นๆว่าอย่างงั้นเถอะ มันเลยมีเหตุผลมากพอที่เราไม่ควรจะสปอยล์เสียจนหมดลุ้นหมดสนุก แต่กลับต้องชมแทนว่าในความเรียบของบทนี่แหละที่มันทรงพลังที่สุดของหนังเรื่องนี้ แม้มันจะเรียบๆไร้ความหวือหวาตื่นเต้นแต่มันกลับทำให้เราจดจ่อและตรึงอยู่กับหน้าจอได้ตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว มันเหมือนการแอบดูชีวิตหนุ่มสาวคนธรรมดาว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ลุ้นและเอาใจช่วยไปกับพวกเขาอย่างไม่วางตา

Bangalore Days - cast
                                                                                                                          Source

อีกอย่างที่ทำให้เราประทับใจมากคือการ cast ได้สมบทบาทจริงๆ ดูแล้วเชื่อเลยว่าแต่ละคนคือตัวแสดงที่ได้รับบทบาท อย่าง Nivin เราได้ดูหนังเรื่องนี้ของเขาเป็นเรื่องแรก เรารู้สึกว่าเขาคือ Kuttan จริงๆ พอเขารับหนังเรื่องอื่นที่ไม่ได้มีลุคแบบนี้กลับกลายเป็นเรารู้สึกว่าเขาดูดีดูเท่ขึ้นมากอย่างน่าประหลาด ประมาณว่าฮีน่าจะเปลี่ยนลุคมานานแล้วนะ แซบขึ้นเยอะเลย ทั้งที่ความจริงแล้วลุคแบบ Kuttan นี่มีให้เห็นแค่ครั้งเดียวก็ใน Bangalore Days นี่ละ นอกนั้นเขาก็ไม่ได้มีลุคใกล้เคียงกันนี้เลย ส่วนของ Dalquer ก็มีหน้าตาและท่าทางที่เหมาะกับบทมาก ออกแนวเด็กแข่งรถแต่งรถ นักแสดงคนอื่นๆก็เหมาะสมกับบทดี อย่างบทของดีเจสาวขาพิการที่ Arjun ไปตกหลุมรักเข้านั่นก็น่ารักมาก ดูเป็นสาวพิการที่เป็นผู้หญิงคิดบวกมากเลย และเป็นเด็กแนวนิดๆดีด้วย

Bangalore Days - dancing scene
                                                                                                                          Source

ปริมาณของเพลงประกอบเราก็ว่าเหมาะสมดี มีเพลงเต้นเพลงนึงตอนเปิดเรื่อง อยู่ในฉากแต่งงานของบรรดาญาติสักคนของ 3 หนุ่มสาวนี่ละ เป็นฉากที่เตรียมงานวันสุกดิบอะไรทำนองนั้น เพลงน่ารักดี ท่าเต้นดูมีความกระโหลกกะลาพอสมควรแต่ก็ดูเพลินใช้ได้ นอกนั้นจะมีเพลงช้าประกอบเรื่องทั่วไป ไม่ถึงกับเป็นมิวสิควิดิโอเพลงเต้นจีบกันในมโนอะไรแบบนั้น คนที่อาจจะไม่ชอบดูเพลงมากไม่รำคาญแน่นอน รับประกันได้เลย

Fahadh Faasil
                                                                                                                          Source

แต่จุดที่เราไม่ชอบมีอยู่นิดนึง มันอาจจะเป็นที่ทัศนคติของเราคนเดียวก็ได้ ลองฟังดูละกันว่าทำไม แล้วพอไปหาหนังดูอาจจะเห็นเหมือนที่เราเห็นหรือเห็นแบบไหนก็ลองมาถกกันได้ คือที่ Divya แต่งงานเนี่ยเป็น arranged marriage ถูกมั้ย พูดภาษาบ้านๆก็คลุมถุงชนอะแหละ ทีนี้เนื้อเรื่องมันดำเนินไปถึงตรงนึงที่เป็น conflict อย่างที่เราเกริ่นไว้ข้างต้น จากนั้นมันก็มีฉากนึงที่ Divya ลูบไล้เนื้อตัวสามี ออกแนวว่ากำลังจะนัวเนียกัน เราดูแล้วงงอะ คือเราพยายามมองข้ามความเป็น arranged marriage ไปหมดแล้วนะ แต่ในเรื่องฝ่ายชายไม่ได้แสดงท่าทีเสน่หาอะไรต่อฝ่ายหญิงเลยไง ออกแนวรำคาญหรือหงุดหงิดใส่ก็บ่อยด้วยซ้ำ แล้วอยู่ๆฝ่ายหญิงจะเกิดอารมณ์มากขนาดไปลูบไล้เนื้อตัวลูบไล้รอยสักบนตัวฮีมันดูแปลกๆอะ เรามองว่าต่อให้เป็น arranged marriage ก็จริงแต่ถ้าฝ่ายชายมันแสดงความเสน่หากับฝ่ายหญิงบ้างแต่ต้น เช่น มีฉากจะเข้าพระเข้านางตอนนอนหรืออะไรแนวนี้ แล้ววันดีคืนดีผู้หญิงมีอารมณ์บ้างจะรุกก่อนมันก็ไม่แปลกไง แม้จะไม่ได้รักชอบกันมาเองแต่แรกจึงตัดสินใจแต่งงานก็เหอะ แต่อยู่ด้วยกัน ได้กันแล้ว หลังจากนั้นฝ่ายหญิงจะเริ่มก่อนมันก็ไม่ขัดตา แต่อันนี้อะไร แต่งมาก็ไม่ได้เพราะรักกัน แถมฝ่ายชายไม่ได้แสดงท่าทีเสน่หาสักกะนิดนึง อยู่ๆฝ่ายหญิงออกอาการอะไรแบบนั้นมันดูเหลือเชื่อ เพราะตามท้องเรื่องผู้หญิงก็ไม่ใช่คนหัวสมัยใหม่แรดแรงอะไรด้วย หรืออยู่ๆหลงรักขึ้นมากระทันหันหรืออะไรยังไง เราดูฉากตรงนี้เรากระอักกระอ่วนพิพล เหมือนแค่มีใครมาดีดนิ้วเป๊าะเดียวว่าเธอจงมีอารมณ์ขึ้น แล้วก็มีเลย มันดูหยึยๆแปลกๆบอกไม่ถูก

Bangalore Days
                                                                                                                         Source

สรุปแล้วก็แนะนำให้หามาดูน่ะแหละ ถ้าอยากลองเริ่มต้นดูหนังอินเดียจากภูมิภาคอื่นๆบ้างหนังมะลายาลัมเรื่องนี้ก็น่าสนใจอย่างมากเลย ความเรียบง่ายของชีวิตหนุ่มสาวในเมืองบังกาลอร์น่าจะทำให้คุณหันมาติดใจหนังภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่หนังกระแสหลักจาก bollywood ได้บ้าง



Saturday, 4 June 2016

Barfi

ถ้าเราจะพูดถึงหนังอินเดียยุคใหม่ที่เคยได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหนังภาษาต่างประเทศแล้วละก็ ยังไงก็ต้องนึกถึง Barfi เป็นเรื่องแรกเลย และไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังอินเดียอีกเรื่องที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในหมู่คนไทยที่ไม่ใช่แฟนหนังอินเดียแต่แรกเริ่มด้วย

Barfi
                                                             Source


Barfi เป็นหนังบอลลีวู้ดที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักในยุค 70 ของชายใบ้จอมทะเล้นกับหญิงสาวสวยลูกคุณหนูและสาวเอ๋ออีกหนึ่งนาง เรารู้ว่าหลายๆคนประทับใจกับวิวสวยๆของดาร์จีลิ่ง ประทับใจกับเพลงประกอบที่สวยงาม รวมทั้งประทับใจกับความรักของหนุ่มใบ้และสาวเอ๋อด้วย

                                                                                        Source

เรื่องมันมีอยู่ว่า Shruti ที่รับบทโดย Illeana D'Cruz ได้ย้ายตามพ่อแม่ไปที่ดาร์จีลิ่งและได้พบกับหนุ่มใบ้จอมทะเล้นเจ้าถิ่นที่ชื่อ Barfi รับบทโดย Ranbir Kapoor ทั้งสองคนพบกันและ Barfi ก็ตกหลุมรัก Shruti ตั้งแต่แรกเห็น พยายามจีบอยู่สักพักสาวเจ้าก็มีใจ แต่ด้วยความที่เป็นใบ้ทางครอบครัวฝ่ายหญิงเลยไม่ยอมรับและจริงๆแล้วฝ่ายหญิงมีคู่หมั้นคู่หมายอยู่ก่อนแล้วด้วย ในเมื่อครอบครัวไม่ยอมรับและ Barfi ก็ทำอะไรไม่ได้ Shruti จึงตกลงแต่งงานไปตามกำหนดเดิมและย้ายเมืองไปใช้ชีวิตกับสามี

Priyanka as Jhilmil
                                                                                                                         Source
จากนั้น Jhilmil สาวเอ๋อที่รับบทโดย Priyanka Chopra ก็กลับเข้ามาในชีวิตของ Barfi อีกครั้ง คล้ายๆว่าจะเป็นเด็กที่โตมาด้วยกันนี่แหละทำให้เกิดความผูกพันหรือยังไงไม่ทราบได้ สักพัก Barfi ไปทำผิดอะไรสักอย่างในเมืองที่ Shruti ย้ายไปอยู่ เธอจึงช่วยเป็นพยานให้และพยายามจะประกันตัวเขาออกมา เธอไม่เคยลืมหนุ่มใบ้ที่เธอรักเลย เขาเองก็เหมือนจะตื่นเต้นดีใจได้สักพัก ทั้งคู่จึงตัดสินใจใช้ชีวิตด้วยกัน แต่สุดท้ายสาวเอ๋ออย่าง Jhilmil ก็เข้ามาแทรก จน Shruti ค่อยๆรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนเกินเข้าไปทุกขณะ และลงท้ายที่หนุ่มใบ้กับสาวเอ๋อแต่งงานกัน

Jhilmil and Barfi
                                                                                                                         Source

ขอชมก่อนเลยเพราะเดี๋ยวจะบ่นอีกยาว การแสดงของทุกคนเยี่ยมมาก การที่คนปกติจะเล่นเป็นคนพิการไม่ว่าในรูปแบบใดๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ Priyanka ที่ปกติเป็นถึงนางงามโลกแต่ต้องมาเล่นเป็นคนเอ๋อ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม กิริยาท่าทางต้องเอ๋อให้หมด ดูไม่จืดเลยละ ถ้าให้พูดตรงๆแรงๆตามสไตล์เราก็คือดูแล้วอนาถลูกตา ยอมรับเลยว่าตอนดูหนังเรื่องนี้ฉากที่เธอโผล่มาเราไม่ค่อยกล้ามองเต็มตาเท่าไหร่ รับไม่ค่อยได้ ซึ่งนับว่าเธอตีบทแตกเลยนะ Ranbir เองก็เจ๋งไม่แพ้กัน นี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขาที่เราดู เราทึ่งนะ รู้สึกว่าพระเอกคนนี้มีฝีมือมาก เล่นเป็นคนใบ้แต่ทะเล้นได้อย่างน่ารักน่าหยิกเป็นบ้า จุดเด่นของการแสดงจึงอยู่ที่ความเป็นหนังเงียบถึง 80% นอกนั้นบทพูดจะมีก็ที่บทของ Shruti และตัวประกอบคนอื่นๆซะมากกว่า ในส่วนของ Illeana เองก็สวยหยดสะกดสายตาเรามากๆ เห็นฉากแรกที่เธอโผล่มาเราก็ตกหลุมรักเธอไปพร้อมๆกับพระเอกเลยละ ผิวเข้มนิดๆ ผอม ตาคม สวยบาดใจที่สุด

Illeana as Shruti
                                                                                                                         Source

อีกจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวิว ดาร์จีลิ่งเป็นเมืองที่สวยงามมาก รู้สึกถึงอากาศหนาวๆเย็นๆคลออยู่ตลอดเวลา อยากออกไปขี่รถเล่นแบบพวกเขาบ้างจัง เพลงประกอบก็ทำได้ดีมาก สมกับอินเดียในยุค 70 เป็นอย่างมาก แม้ว่าเราจะเกิดไม่ทันยุคนั้นและไม่ใช่คนอินเดียแต่ดนตรีที่เลือกใช้มันมีความสากล ไม่ได้ฟังเป็นอินเดี๊ยอินเดียจนคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกผงะได้ เสื้อผ้า หน้าผมก็เซ็ทออกมาได้ดี ดูย้อนยุคสมจริงสมจังดีและเหมาะกับบุคลิกของตัวละครด้วย

Barfi marriage
                                                                                                                         Source

แต่เชื่อมั้ยว่าเราไม่ชอบพล็อตเรื่องเลย ใครๆเขาดูแล้วชอบกันแต่เรากลับรู้สึกแย่ เหมือนเรารับไม่ได้อะที่สุดท้ายคนสวยแพ้ยัยเอ๋อ พระเอกนั้นถึงจะเป็นคนใบ้แต่ก็แค่ใบ้มั้ยอะ ทำไมถึงต้องเลือกคนที่พิการหนักกว่าตัวเองด้วย ชีวิตจะเป็นไปยังไงนึกไม่ออกเลย เห็นทุกอย่างมันเป็นแบบนั้นแล้วเราหงุดหงิดบอกไม่ถูก เรารู้สึกว่า Shruti รัก Barfi จริงๆแต่ Barfi น่ะแค่หลงรูปเธอเท่านั้น สุดท้ายก็เลือกรักสาวเอ๋อแทนด้วยความผูกพันหรืออะไรก็ไม่รู้ เราเดาไม่ถูก อาจเพราะเคยโตมาด้วยกันหรือเพราะเข้าใจในความขาดความพิการของกันและกันงั้นเหรอ ดูแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนใจโฉดใจร้ายมากเลยมีอาการที่ไม่พอใจที่สาวเอ๋อปาดหน้าเค้กสาวสวยไปได้ บางทีก็ย้อนมองตัวเองนะ คนเป็นเอ๋อไม่มีสิทธิ์มีคู่รักหรือมีความรักเหรอ คนที่พิการน้อยกว่าไม่มีสิทธิ์เลือกเอาคนที่พิการมากกว่ามาเป็นผัว/เมียงั้นเหรอ มันก็ไม่ใช่ แล้วทำไมเราถึงรู้สึกว่านางเอกคนสวยเป็นผู้แพ้ ทำไมเราถึงใจร้ายมองว่าพระเอกมีทางเลือกที่ดีกว่านี้แล้วทำไมยูไม่เลือก ความรักและชีวิตคู่จำเป็นที่จะต้องสื่อสารกันรู้เรื่องจริงๆน่ะเหรอ ต้องสามารถคุยเมาท์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องต่างๆกันได้อย่างเข้าใจเท่านั้นเหรอ คนใบ้คนนึงกับคนเอ๋ออีกคนสื่อสารกันลำบากก็อยู่ไปแบบรอวันแก่เน่าตายไปเองสิ แบบนั้นน่ะเหรอที่เราต้องการให้เป็น ความรักและชีวิตคู่น่ะให้คนที่เขาสามารถสื่อสารส่งภาษากันเข้าใจได้เขามีกันเถอะวะ ใครทำไม่ได้ก็อย่ามีมันเลยชีวิตคู่น่ะ เราเป็นคนใจแคบที่มองความรักด้วยแง่มุมเดียวแบบนี้จริงๆน่ะเหรอ

แม้เราจะไม่ชอบพล็อตของหนังอย่างมาก มากซะจนไม่อาจจะพูดว่าชอบหนังเรื่องนี้ได้เต็มปาก แต่เรากลับชอบที่พล็อตของหนังเรื่องนี้สื่อถึงชีวิตอันไม่สมบูรณ์แบบจนทำให้เราต้องย้อนมองตัวเองและตั้งคำถามกับความคิดจิตใจของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าเนื้อเรื่องจะขัดใจเราเป็นที่สุด แต่คุณค่าบางอย่างของหนังกลับทำงานต่อจิตใจของเราอย่างน่าประหลาด กลายเป็นว่ามันช่วยบำบัดและเยียวยาความคิดบิดๆเบี้ยวๆที่มองความรักด้านเดียว มองความรักจากมุมมองของตัวเองที่คิดว่าแบบนี้แหละคือความรักที่ทุกคนควรจะมีควรจะเป็นหรือน่าจะต้องอยากมีและอยากเป็นแบบนั้น โดยที่เราลืมไปว่าความเพอร์เฟ็คท์ของเราไม่ใช่ความเพอร์เฟ็คท์ของใครๆ และความเพอร์เฟ็คท์ของแต่ละคนนั้นย่อมไม่มีวันจะเหมือนกันด้วย




Friday, 3 June 2016

3 Idiots

ถ้าจะให้พูดถึงหนังอินเดียที่เราคิดว่ามันเลอค่า สนุก ได้แง่คิด และเป็นหนังที่น่าจะแนะนำให้คนอื่นดู หนังเรื่องนั้นคงจะหนีไม่พ้น 3 Idiots แน่นอนเลย และมันก็จัดเป็นหนังเรื่องนึงที่คนไทยที่เริ่มเปิดใจให้หนังอินเดียมักจะหามาดูกันเป็นเรื่องแรกๆอีกด้วย อย่างน้อยๆก็เท่าที่เราเจอมาจากสังคมพันทิปละนะ เราคิดว่าหลายๆคนคงได้อ่านรีวิวของหนังเรื่องนี้กันไปแล้วไม่มากก็น้อย แต่เท่าที่เราผ่านตามาส่วนมากจะเป็นรีวิวจากคนที่ไม่ได้เป็นติ่งอินเดียแต่เดิมเสียมากกว่า เอาละ วันนี้อยากให้ติ่งอินเดียด้วยกันและคนอื่นๆได้ลองอ่านรีวิว 3 Idiots จากคนที่เป็นติ่งอินเดียอย่างเราบ้าง

                                                         Source

เนื้อหาคร่าวๆของ 3 Idiots นั้นพูดถึงชีวิตของเด็กหนุ่มวัยมหาลัย 3 คนที่เข้าไปเรียนในสถาบันด้านวิศวกรรมศาสตร์ชื่อดังของอินเดีย ทั้งสามคนมีแนวทางชีวิตที่แตกต่างกันอย่างชิ้นเชิง เริ่มจาก Farhan Qureshi รับบทโดย R Madhavan คนถัดมาคือ Raju Rastogi ที่รับบทโดย Sharman Joshi และคนสุดท้าย Rancho หรือชื่อจริงว่า Ramaldas Chanchad รับบทโดย Aamir Khan หรือพี่มีร์ของพวกเราชาวติ่งนั่นเอง และทั้ง 3 หน่อนี้ก็กลายมาเป็นเพื่อนรักกันในตลอดระยะเวลาของการเรียนในสถาบันแห่งนี้ เริ่มแรกเลยเขาเจอกับอาจารย์ใหญ่จอมโหดที่พวกเขาขนานนามว่าไวรัส รับบทโดย Boman Irani ที่ก็เป็นพ่อของสาวสวยนักเรียนแพทย์อย่าง Pia นางเอกของเรื่องที่รับบทโดย Kareena Kapoor Khan และได้เจอเพื่อนเด็กเรียนที่ออกจะเห็นแก่ตัวแถมชอบปล่อยปุ๋งกลิ่นร้ายกาจอย่าง Chatur รับบทโดย Omi Vaidya


บอกตรงๆว่าหนังเรื่องนี้ไม่รู้จะหาอะไรมาชมดีเพราะมันชมได้ทุกส่วนเลยจริงๆ เลือกจุดที่จะชมไม่ถูก อันดับแรกที่นึกถึงคือการตีแผ่ปัญหาการศึกษาในโลกยุคปัจจุบันได้ดีมาก ความรู้คืออะไร เราเรียนกันไปทำไม วิธีการเรียนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมันใช่แล้วเหรอ ทั้งฉาก ทั้งบทสนทนาทำออกมาได้ดีมาก กลั่นออกมาจากสถานการณ์จริงของชีวิตคนที่เคยเป็นนักเรียนทั้งสิ้น ฉากที่เราโดนมากๆเลยคือตอนที่ Rancho เขียนคำสองคำบนกระดานแล้วให้ทั้งห้องรวมทั้งไวรัสเปิดหาความหมาย อีฉากนี้แม่งชีวิตจริงเราเลย สมัยเราม.ปลายเราเรียนศิลป์ฝรั่งเศส มันจะมีอาจารย์คนเบลเยียมคนนึงชอบให้ทุกคนแข่งกันตอบ ใครยกมือแล้วตอบได้ก็จะจดเป็นคะแนน เพื่อนๆทุกคนล้วนแต่ยกมือด้วยความกระหายคะแนนแย่งกันตอบ มีแต่เราที่นั่งเบื้อใบ้ รู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงซอมบี้กระหายเลือดเพราะเราไม่ได้ชอบเรียนฝรั่งเศส (จริงๆอยากเรียนภาษาอื่นที่ไม่มีที่ไหนเขาสอนกันในม.ปลายเลยและเรียนเลขไม่ไหว ก็ต้องจำใจเรียนฝรั่งเศสไปวันๆ) เราไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นอยากรู้อะไรทั้งนั้น เข้าเรียนให้มันจบๆไป นานๆทีเราจะเฟคยกมือบ้าง ยกช้าไม่ให้เขาเรียกเพราะเรียกไปก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปตอบเขา ยกกันให้คนอื่นไม่มองว่าทำไมอินี่ประหลาดไม่อยากได้คะแนนหรือไงไปอย่างงั้นเอง เราสงสัยมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเพื่อนๆมันอยากเรียนรู้จริงๆ ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่จริงๆ หรือทำเพราะมีคะแนนมาล่อใจกันแน่ บทของ 3 Idiots นี่ตีแสกหน้าทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทุกแขนงในแวดวงการศึกษาได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา และปัญหาคลาสสิคอีกอย่างที่หนังพูดถึงก็คือการบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่คิดเอาเองว่าดี ทั้งๆที่ลูกอาจจะทำสิ่งอื่นได้ดีกว่ามากๆก็ได้ ประเด็นนี้ไม่รู้จะต้องพูดกันปากเปียกปากแฉะอีกกี่รอบพ่อแม่บางพวกถึงจะเข้าใจ

Farhan Rancho Raju
                                                                                                                     Source         

ส่วนถัดมาที่ชอบคือการเฉลี่ยน้ำหนักประวัติของตัวละครเพื่อนรักทั้ง 3 ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เราจะดูกันออกว่าพี่มีร์คือพระเอกของเรื่องนี้ แต่เราจะไม่รู้สึกเลยว่าบท Farhan กับ Raju ดูด้อยหรือมีความสำคัญน้อยกว่า ที่สำคัญกว่านั้นเราชอบการ cast ด้วย เรารู้สึกว่าหน้าตาและบุคลิกของตัวละคนมันเหมาะกับดาราที่เลือกมาแสดงมากๆ มันเหมาะเจาะลงตัวไปหมด คนอย่าง Farhan ที่อยากเป็นช่างภาพชีวิตสัตว์ป่ามากกว่าจะเรียนวิศวะมันจะต้องมีรูปพรรณสัณฐานแบบ R Madhavan นี่แหละ มันไม่ควรเป็นแบบอื่น และนักศึกษาที่มาจากครอบครัวฐานะไม่สู้ดีนักจึงแบกรับแรงกดดันไว้มากมาย รวมทั้งต้องพึ่งเทพเจ้าอยู่ตลอดเวลาก็ดูเหมาะกับรูปร่างท่าทางของ Sharman Joshi เอามากๆ ลองนึกว่าถ้าเอาสองคนนี้มาสลับบทกันมันคงไม่ใช่เลย มันต้องออกทะเลแน่ๆ จะไม่ดีงามแบบนี้แน่นอน รวมทั้งไอ้เจ้า Chatur ด้วย เขาเลือกคนที่หน้าตาน่าหมั่นไส้จริงๆพับผ่าเถอะ ถ้าเป็นเราเจอเพื่อนนักเรียนแบบนี้คงหมั่นไส้ไม่เบาแหละ อีกจุดนึงที่ชอบ ไม่รู้จะเอาไปใส่ไว้ตรงไหน ขอพูดในย่อหน้านี้แล้วกัน เราชอบที่เลือกตัว Farhan มาเป็นคนเริ่มเรื่องและบรรยายเรื่องทั้งหมด ถ้าเป็นคนอื่นมันคงไม่ใช่อะ ไม่รู้สิ แต่เราชอบและคิดว่าคนนี้เหมาะสุดแล้ว

Omi as Chatur
                                                                                                        Source

ชมนักแสดงกับการ cast ไปแล้วสิ่งที่ต้องชมต่อมาคือการแต่งหน้าและดูแลเสื้อผ้า ในซีนที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานเต็มตัวกับซีนนักศึกษาเขาทำออกมาได้เนียนดีมาก เราดูแล้วเชื่อจริงๆว่าคนที่สมัยเรียนมีสภาพแบบนั้นมีประวัติเรื่องราวแบบนั้น พอเรียนจบมา โตเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่การงาน มันจะต้องทำผมแบบนี้ แต่งตัวราวๆนี้ แม้แต่ถ้ามันจะมีเมียก็ต้องลุคประมาณนี้ ดูแล้วมันรู้สึกใช่ไปหมดน่ะ ทึ่งนะว่าเขาทำได้ยังไงกัน ที่สำคัญคือเขาสามารถทำให้พี่มีร์ในวัย 40 กว่าดูเป็นนักศึกษาได้นี่มันเริ่ดมากจริงๆ ไม่มีดารารุ่นสี่สิบกะรัตประเทศไหนแล้วที่กล้าแอ๊บเล่นเป็นนักศึกษาตลอดเกือบทั้งเรื่องแบบนี้ อย่างดีก็เล่นกันแค่ซีนย้อนยุคนึกถึงอดีตไม่กี่สิบนาที น่าทึ่งจริงๆดาราอินเดีย

3 Idiots with Pia
                                                                                                                     Source

แล้ว 3 Idiots ก็ไม่ใช่หนังตลกเสียดสีการศึกษาแค่อย่างเดียวนะ การรับน้องในมหาลัยก็โดนเสียดสีด้วย ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าที่อินเดียก็มีการรับน้องด้วยวิธีที่อีเดียทไม่แพ้กับของไทย และก็ได้ Rancho พระเอกของเรื่องนี่แหละเป็นตัวปฏิวัติความคิดว่าทำไมรุ่นน้องถึงต้องไปทำอะไรบ้าๆบอๆตามความต้องการของรุ่นพี่โดยที่หาประโยชน์ไม่ได้ด้วย มานึกๆดูแล้วเห็นคนที่ไม่ใช่ติ่งอินเดียชอบหนังเรื่องนี้กันเยอะมาก จะมีอีพวกที่คลั่งการรับร้องคนไหนมั้ยที่ดูฉากนี้แล้วสะท้อนใจตัวเอง ความดีงามอีกย่างคือพล็อตที่มีจุด conflict ซ่อนไว้ด้วย ดูๆไปไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีจุดนี้โผล่มาแต่มันก็มี และมันก็สามารถเติมเต็มเนื้อเรื่องได้อย่างงดงามเลยทีเดียว คงต้องยกความดีความชอบทั้งหมดให้ Rajkumar Hirani แล้วละ

แต่จุดที่ติก็มี ไม่ใช่ไม่มี และคิดว่าหลายๆคนคงสังเกตเห็นด้วย คือหนังพูดถึงเรื่องที่มันเกิดขึ้นก่อนปีที่มันสร้าง (2009) พักนึง อย่างน้อยๆก็ 6-7 ปีได้ แต่กลับมี Youtube โผล่มาแล้ว มาจากไหนได้ยังไง พลาดจังเบ้อเร่อ โดนแซวไปหลายปีเลยละกับความพลาดครั้งนี้ แต่นอกนั้นต้องบอกว่าไม่มีที่ติจริงๆ กลมกล่อม สนุกสนาน มีแง่คิดเจ็บๆคันๆ งดงามตามท้องเรื่องมาก

3 Idiots Movie
                                                                                                               Source

และนี่คือหนังที่ทุกคนต้องดู ถ้าคุณใช้ชีวิตแบบสังคมคนเมือง (ไม่ได้อยู่ป่าเขาขุดหาของป่าไปวันๆโดยไม่ต้องไปโรงเรียนก็ได้) เป็นหรือเคยเป็นนักเรียน เป็นหรือกำลังจะเป็นผู้ปกครอง เป็นหรือกำลังจะเป็นคนในแวดวงการศึกษา หรือแค่เป็นประชาชนคนหนึ่ง หนังเรื่องนี้พลาดไม่ได้ ดูแล้วทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการศึกษาและความรู้ที่แท้จริงมันคืออะไร เพื่อตัวเองและเพื่อลูกหลานเราในวันหน้า เพราะ ...

"This is a college not a pressure cooker."





Thursday, 2 June 2016

FAN


หนังทั่วๆไปที่นำเสนอถึงการเป็นแฟนคลับหรือเป็นติ่งดาราแบบจริงๆจังๆมีให้เห็นได้น้อยมาก อย่างดีก็เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตตัวละครบางตัวในหนัง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครนำหรือตัวละครรอง ไม่ใช่เนื้อเรื่องหลักทั้งหมดของหนัง แต่วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับหนังอินเดียเรื่องนึงที่พูดถึงพลังด้านลบที่แฟนคลับมีต่อศิลปินสุดรักของเขา ความจริงเราดูไปตั้งแต่หลังสงกรานต์อาทิตย์นึงได้แล้วละแต่เพิ่งจะมาได้ รีวิวเอาตอนนี้

FAN
                                                                                                          Source

 

FAN นำแสดงโดย Shah Rukh Khan หรือที่ชาวติ่งเรานิยมเรียกกันว่าป๋า ความตื่นเต้นแรกที่เรามีกับหนังเรื่องนี้คือป๋าจะเล่นเป็นตัวละครสองตัวในเรื่อง เป็นดาราใหญ่ตัวนึงและเป็นแฟนคลับอีกตัว ก่อนอื่นต้องเล่าว่าตอนที่ทีเซอร์ออกมาใหม่ๆทำให้เรามองหน้าหนังผิดไปเหมือนกัน ด้วยความที่เขาตัดมาแต่เนื้อเรื่องช่วงที่ทุกอย่างยังแฮปปี้กันดีอยู่ เราเลยเห็นแค่ภาพของแฟนคลับที่ชื่อว่า Gaurav ที่เป็นติ่งสุดขั้วของดาราใหญ่ที่ชื่อ Aryan Khanna ฮีเป็นติ่งขนาดเข้าประกวดคนหน้าเหมือนและได้รางวัลด้วยนะ ทุกอย่างเหมือนจะดูน่ารักร่าเริงดี จนวันนึงก่อนที่เทรเลอร์จริงของหนังจะออกเราได้ไปดูคลิป teaser reaction ของ Youtuber คนอเมริกันคนนึง เขาดูกับเพื่อนผู้หญิงอีกคนและพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่ามันจะต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแน่นอนเลย เพราะตอนสุดท้ายที่คำว่า FAN โผล่ขึ้นมามันมีรอยแตกร้าวไปทั่วและมีเสียงด้วย เราก็ย้อนดูตามและเห็นจริงตามนั้น เราก็เฮ้ย หนังนี่แม่งต้องไม่ธรรมดาแน่ละ แล้วเราก็เข้า imdb อีกรอบไปเช็ค เห็นเขาเขียนว่า thriller โหยยย ซู้ดปากเลยละ มันต้องแซบแน่ นี่คือความตื่นเต้นครั้วที่สอง แล้วก็จริงดังคาด FAN คือเรื่องราวของแฟนคลับที่รักดารามากเกินไป รักเกินพอดี ใครมาว่าดาราที่กูรักไม่ได้ กูจัดการหมด แม้แต่ดาราด้วยกันที่เป็นคู่แข่งก็ไม่ละเว้น เมื่อเรื่องแดงถึงหูดาราคนโปรดและเขาไม่ชอบใจในพฤติกรรมจึงไม่ญาติดีด้วย แรงรักของแฟนคลับคนนี้เลยแปรเปลี่ยนเป็นแรงแค้น จากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้างคงต้องไปติดตามกันเองนะ


สิ่งแรกที่จะขอชมเลยก็คือทีม effect ที่แต่งหน้าของป๋าได้ดีมากในบท Gaurav ผู้ชายคนนี้จะต้องมีใบหน้าที่คล้ายกับดารา Aryan Khanna ซึ่งเขาก็เอา footage ต่างๆของป๋าจากชีวิตจริงมาใช้น่ะแหละ ถึงจะ หน้าคล้ายแต่ไม่เหมือนซะทีเดียว หน้าตาไม่ได้ดีมาก ยังบ้านๆ แต่เห็นแล้วนึกถึงว่าหน้าเหมือนใคร ประมาณนั้น ทีมแต่งหน้าเขากลบจมูกเติมของป๋าที่เด่นเป็นสง่าซะมิดชิด แต่งช่วงปากและพื้นที่เหนือปากให้ออกมาตุ๋ยๆเจ่อๆดูเป็นคนเด๋อๆบ๊องๆได้ดีทีเดียว นอกเหนือจากนั้นจะต้องทำผิวให้ดูอ่อนเยาว์ลงด้วยซึ่งมันยากมากนะการแต่งหน้าให้อ่อนเนี่ย ขนาดแต่งแก่ที่ว่าง่ายกว่าก็ยังยากแล้วเลย ขั้นตอนแต่งหน้าเป็น Gaurav นี้กินเวลาครั้งละ 4-5 ชั่วโมง ทุกๆวันที่ถ่ายฉากของ Gaurav ป๋าบอกว่าจะต้องมาทนนั่งแต่งแบบนี้ทุกวัน อากาศอินเดียรึก็ร้อนแสนร้อน แม้จะหงุดหงิดก็ต้องทนเพื่อผลงานที่ดี ทีมแต่งหน้านี้เป็นทีมจากต่างประเทศเลยนะ และยังต้องใช้ special effect เสริมเข้าไปอีกหลังจากถ่ายเสร็จ เพื่อความสมจริงยิ่งขึ้น

Gaurav meets Aryan
                                                                                                                         Source

เทคนิคอื่นๆที่ใช้ในการที่ต้องเอาตัวละครหลายตัวที่จริงๆแล้วแสดงโดยคนเพียงคนเดียวมาไว้ในเฟรมเดียวกันก็ทำได้ดีมาก ทั้งฉากที่ Gaurav กับ Aryan เผชิญหน้าแบบนั่งหันหน้าเข้าหากัน ฉากวิ่งไล่กันแบบคนนึงวิ่งนำอีกคนวิ่งไล่ตามหลังก็ทำได้สมจริงทั้งสองฉาก และยังมีฉากอื่นๆอีกมากมายที่จะได้เห็นสองคนนี้ร่วมเฟรม ไม่ออกมาดูมีพิรุธเลยสักนิด ผลงานอินเตอร์มากบอกเลย

Gaurav
                                                                                                                         Source

เรื่องการแสดงนี่ยิ่งหายห่วง ระดับป๋าซะอย่าง ป๋าเป็น Gaurav ได้น่ารักมาก ดูเป็นคนธรรมดาที่เป็นติ่งดาราได้อย่างแนบเนียนเลย ช่วงแรกที่ยังไม่พลิกมาร้ายนั้นดูเป็นคนที่น่ารักเอาการเลย ตอนที่ Gaurav ไปพักที่โรงแรมที่ Aryan เคยพักสมัยเข้ากรุง (กรุงมุมไบนะ) มาตามหาฝันใหม่ๆ แล้วเอาเค้กกับรูปมาถ่าย selfie น่ะ ดูแล้วน่ารักอบอุ่นเป็นบ้า ดูเป็นแฟนคลับที่รักดาราคนนั้นจริงมากๆเลย แทบไม่อยากเชื่อว่าต่อมามันจะเปลี่ยนเป็นความแค้นได้แรงขนาดนั้น แม้กระทั่งตอนที่เศร้าเมื่อถูกขวัญใจสะบั้นไมตรีก็ร้องไห้โอดโอยได้น่าสงสารมากเลย อยากเข้าไปปลอบจริงๆ ส่วนบทบาทของดาราใหญ่แบบ Aryan ป๋าก็ทำได้เท่สุดๆ ยิ่งตอนที่ขับมอเตอร์ไซไล่ล่ากันที่ต่างประเทศนี่โคตรเท่เลย ดูแล้วต้องกรี๊ดป๋าอย่างหนักหน่วงในฉากนี้ เจ้าเสน่ห์สุดๆอะ

Aryan on motorcycle
                                                                                                                          Source

ประเด็นที่จะติก่อนอื่นเลยคือเนื้อเรื่องที่มันดูง่ายไปในบางจุด การเริ่มต้นแก้แค้นของ Gaurav เกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งหมด สถานที่คืออังกฤษกับโครเอเชีย เรื่องปูแค่ว่า Gaurav ขาย internet cafe ของตัวเองทิ้งและน่าจะเอาเงินก้อนนั้นเป็นทุนเพื่อเดินทางไปล้างแค้นตามแผนยังต่างประเทศ มีทั้งการเข้าไปป่วนที่พิพิธภัณธ์หุ่นขี้ผึ้งชื่อดัง ทั้งปลอมตัวเข้าไปเป็นทีมงานเบื้องหลังของงานโชว์ เรารู้สึกว่าสำหรับผู้ชายบ้านๆคนธรรมดาที่ไม่ได้มีพิษสงอะไรในทีแรกการจะทำทั้งหมดนี่มันดูง่ายเกินไป อะไรมันจากราบรื่นสะดวกโยธินขนาดนั้นวะ คนธรรมดาตัวคนเดียวที่จะวางแผนล้างแค้นดาราใหญ่ขนาดนั้นน่ะ ดาราใหญ่ขนาดที่ฝรั่งทำหุ่นขี้ผึ้งให้นี่มันระดับโลกนะเว้ย แล้วเอ็งเป็นไอ่หนุ่มเจ้าของร้านอะไรก๊อกๆแก๊กๆทำไมเอาปัญญาไหนมาทำเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ได้ มันดูเหลือเชื่อไปหน่อย ที่ต้องติเพราะมันดูง่ายไป คนละอย่างกับหนังแอ็คชั่นที่แบบว่าขับรถชนแค่นั้นทำไมมันระเบิดได้หรืออะไรแบบนั้น อันนั้นเรารู้กันไงว่ามันขายเว่อร์ขายความมันในฉากบู๊อย่างเดียว หนังฝรั่งก็ทำกัน ไม่แปลก แต่กับเคส FAN หนังมันไม่ได้จงใจขายความเวอร์ของฉากบู๊หรือพรีเซนท์ตัวเองในทางนั้นแต่แรก พอบทในช่วงนี้มันเบาไปนิดก็อดติไม่ได้

เท่าที่รู้มาอีกอย่างคือ FAN มีเพลงประกอบที่ดีอย่าง Jabra Song แต่ไม่ถูกตัดใส่ในหนัง ถ้าหนังจะมีเพลงสักเพลงนึงจะดีกว่านี้มาก เราว่ามันจะทำให้หนังสมบูรณ์แบบขึ้นอีกเป็นกองเลย อันนี้รู้สึกเหมือนไปกินข้าวมันไก่แล้วเขาไม่ให้ซุปน่ะ ข้าวมันไก่อร่อยก็จริงอยู่แต่ควรมีซุปด้วยจะดีกว่า ถึงจะซดแค่สองสามช้อนก็ดีกว่าไม่มีเลย และฉากบู๊มันๆอีกหลายฉากที่เอาคลิปมาลงให้ดูตอนหลังก็ถูกตัดออกด้วย ส่วนตัวดูแล้วรู้สึกว่าถ้าใส่มาทั้งหมดก็จะมีอรรถรสยิ่งขึ้น

FAN
                                                                                                                           Source

ตอนใกล้จบ FAN ทิ้งความอึนให้เราประมาณนึง แม้ไม่ถึงกับเสียน้ำตาหรือเศร้าข้ามวันมากๆแบบ Sarbjit แต่ก็หดหู่เล็กๆเหมือนกัน ดู FAN แล้วย้อนดูตัวเองได้เลยนะว่าพฤติกรรมติ่งของเรามันส่งผลไม่ดีต่อดาราคนที่เรารักหรือเปล่า เราว่าร้ายดาราคนอื่นแบบไม่ยุติธรรมมั้ย เราชอบอวดเบ่งดาราของเราทับดาราคนอื่นอยู่บ่อยๆหรือเปล่า พฤติกรรมพวกนี้มีติ่งดาราชาวอินเดียหลายคนทำกันมากซึ่งมันไม่ดีเลย เราก็ได้แต่หวังว่าติ่งอินเดียชาวไทย ติ่งฝรั่ง ติ่งเกาหลี หรือติ่งบอลอะไรก็ตามจะไม่ทำตัวเป็น FAN ที่ร้ายกาจแบบนั้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะถูกทำลายจากพฤติกรรมของคุณก็คือคนที่คุณคลั่งไคล้บูชาอย่างสุดหัวใจนี่แหละ