Tuesday, 24 May 2016

Sarbjit


ผู้ชายชาวอินเดียคนนึง เขาเป็นหนุ่มชาวบ้าน เป็นชาวนา

Sarabjit and Dalbir
 เป็นน้องชายที่ทะเล้นน่ารักของพี่สาวคนเดียวของเขา

Sarabjit and Sukh
เป็นพ่อของลูกสาวที่น่ารักสองคน และเป็นผัวของหญิงสาวที่เขารักและเธอก็รักเขา

Sarabjit and wife
ยามเสร็จจากงานก็มีสวีทกับเมียบ้างเป็นธรรมดา

Sarabjit-life
 หรือว่างๆก็ชอบเล่นมวยปล้ำ

แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับถูกจองจำในคุกที่ปากีสถานเป็นเวลาร่วม 20 ปีในข้อหาเป็นสายลับจากอินเดียและก่อการร้าย ทั้งๆที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเลย และศาลปากีสถานมีบทลงโทษคือตัดสินประหารชีวิต ... นี่คือเรื่องจริงของผู้ชายชาวอินเดียที่ชื่อว่า Sarabjit

Sarbjit
                                                                                                        Source

หนังบอลลีวู้ดเรื่อง Sarbjit นี้สร้างมาจากเรื่องจริงของชายชาวอินเดียจากแคว้นปัญจาบที่ชื่อ Sarabjit Singh Atwal รับบทโดย Randeep Hooda เราจะเห็นได้ว่าเขาเป็นแค่ผู้ชายบ้านๆคนนึงที่ทำนาหาเลี้ยงชีพ อาศัยอยู่กับพี่สาว (ที่เลิกกับผัว) ชื่อ Dalbir Kaur รับบทโดย Aishwarya Rai Bachchan อยู่กับเมียที่รับบทโดย Richa Chadda และลูกสาวสองคน รวมทั้งพ่อวัยชรา ชีวิตของเขาดูจะเรียบง่ายดีตามประสา เขาเป็นที่รักของพี่สาวที่เลี้ยงเขามากับมือ เป็นน้องที่ทะเล้นน่ารัก เป็นผัวที่สวีทกับเมีย และเป็นพ่อของลูกสาววัยกำลังน่ารักถึง 2 คน แต่แล้ววันนึงที่เขาออกไปเมากับเพื่อน เมาแประจนเผลอเดินข้ามเขตแดนเข้าไปยังเขตของปากีสถาน เชื่อมั้ยว่าเดินไปเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้นเขาก็โดนจับ จากนั้นก็โดนยัดข้อหาว่าเป็นสายลับจากอินเดียที่มีส่วนร่วมในการวางระเบิด แล้วก็มีคนปากีสถานตายหลายคน เขาบอกว่าตัวเองเป็นแค่ชาวนาธรรมดาก็ไม่มีใครฟัง เอาแต่คาดคั้นให้เป็นคนร้ายให้ได้ เขาติดคุกแบบแทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน พี่สาวคนเดียวของเขาที่รักเขาสุดหัวใจต้องออกมาสู้กับทุกทาง สู้ทุกๆอย่างเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของน้องชาย จากเดือนเป็นปี ผ่านปีเป็นหลายๆปี จนกว่าจะได้พบกัน (ได้เยี่ยมในคุก) พร้อมรอยน้ำตา



อวยกันตรงๆเลยละคุณ พอดีเป็นคนตรงๆไม่อ้อมค้อม คือหนังนี้ดีมากจริงๆ ตั้งแต่เปิดฉากมาก็เหมือนดูดคนดูอย่างเราให้เข้าไปอยู่ในหนังได้เลย การสร้างหนังจากประวัติคนจริงๆหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนี่ไม่ง่ายนะแต่หนังทำให้เรารู้สึกเรียลมาก ไม่เหมือนดูการแสดงสักนิด เรารู้สึกเหมือนถูกดึงเข้าไปในหนังและไปร่วมรับรู้ความเจ็บปวดร้าวรานของครอบครัว Sarabjit ได้เป็นอย่างดี เหมือนพวกเขาได้แชร์ความร้าวรานอันนั้นมาให้เราร่วมแบกมันเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันจนหนังจบ ความเศร้าและความร้านรานต่างๆมันค่อยก่อตัวขึ้นตามระยะเวลาของหนัง เหมือนผู้กำกับและทีมนักแสดงค่อยๆเอาลูกตุ้มมาถ่วงเข้าบนบ่าเราทีละนิดๆ ค่อยๆเพิ่มไปเรื่อยจนพีคขั้นสุด เริ่มเศร้าครั้งแรกก็ตอนที่ Sarabjit เดินหลงเข้าไปในเขตปากีสถาน คือเดินเข้าไปไม่กี่ก้าวอะ โดนจับแล้ว ลำพังว่าโดนจับไม่เท่าไหร่ แต่วิธีการคือพวกทหารนั่นวิ่งกรูลงมาจากรถแล้วทุบตี เอาผ้าห่อตัวอีก แล้วอุ้มขึ้นรถหายไปเลย ซีนนี้บีบคั้นอารมณ์เราได้จริงๆ ทั้งเศร้าทั้งโมโหระคนกัน เฮ้ย ไอ่หอย คือมึงก็เห็นว่าไอ่นี่มันเมา คนเมาอ้ะ มึงยังจะไปอะไรกับเค้าอีกวะ คนเมามันก็เดินเปะปะแบบนี้แทบทั้งนั้นปะวะ ข้ามเขตมากี่ก้าวกันเชียว มึงบ้าบอปัญญานิ่มจนไม่รู้จักแยกแยะ สุดท้ายแม่งทำชีวิตคนๆนึงตายทั้งเป็น สลัดเอ๊ย เราดูแล้วแบบโมโหยังงี้จริงๆ แล้วตอนที่โดนจับขังไว้ในกล่องไม้อีก มีการเอาหนูเป็นๆมาเทใส่ มีการซ้อมจนเลือดซิบทั่วร่าง แล้วก็ลากมาใส่กล่องตามเดิม ปิดฝาและเทน้ำลงไปถึงระดับไหล่ ข้าวปลาอาหารไม่ได้กิน น้ำดื่มไม่มีให้ ถ้าจะขี้จะเยี่ยวนี่ทำตรงไหนไม่อยากนึก โอ๊ยยย คือเป็นเรานี่แม่งกัดลิ้นตายห่าไปตั้งกะตอนนั้นแล้วคุณ ชีวิตแม่งหมดหวังหมดอาลัยตายอยากไปแล้วอะ จะไม่ทนไม่รอได้หลายปีแบบนี้หรอก ตายๆหนีโลกอันทรมานไปให้มันจบ เมียจะมีผัวใหม่ลูกจะอะไรยังไงคงไม่คิดแล้ว สูญสิ้นอิสระขนาดนี้ตายซะดีกว่าอยู่ ความรู้สึกที่ว่านี้มันพรั่งพรูออกมาตลอดขณะที่ดูหนังเลย หนังทำให้เรามีอารมณ์ร่วมได้ขนาดนี้ขอคารวะจากใจหนึ่งจอก

Sarbjit-Aishwarya-giving-speech
                                                                                                                         Source

จอกที่สองขอคารวะให้กับนักแสดงนำสองคนพี่น้อง (เฉพาะในเรื่องนะ) ได้แก่ Aishwarya Rai Bachchan และ Randeep Hooda ทั้งสองคนเล่นดีมากๆเลย มากจนพูดได้ว่าเป็นงาน masterpiece ของทั้งคู่ไปแล้วหนังเรื่องนี้ ขออวยแอชก่อนนะ ดีงามสามโลกอะ เราอาจจะเคยดูเธอเล่นบทหญิงแกร่งมาบ้างแต่กับเรื่องนี้มันเข้มข้นกว่ามาก ทั้งแกร่งและร้าวรานแตกสลายในคนเดียวกัน 
 
Aishwarya acting
                                                                                                                         Source

สภาพตอนที่เธอปะทะกับพวกตาลีบันนี่ทำเราติดตาไม่ลืม แววตาของเธอแดงก่ำด้วยความโกรธ ปากสั่น ตัวสั่น กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกด้วยความโมโห พร้อมกับร้องท้าทายว่ามาฆ่าฉันสิ ถ้าแน่จริงก็ยิงเดี๋ยวนี้เลย ผู้หญิงตัวคนเดียนี่แหละ เราขอคารวะทั้งแอชและทั้งคุณ Dalbir ตัวจริงเลย เธอเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญมากจริงๆ ตัวเล็กแต่ใจใหญ่มาก กล้าท้าชนและทุ่มเททุกอย่างเพียงเพราะความรักในตัวน้องชาย แอชเล่นได้ถึงสุดๆ อย่างชนิดที่ว่าถ้าไม่ใช่เธอก็คงไม่มีดาราสาวฝั่งบอลลีวู้ดคนไหนเหมาะสมกับบทนี้อีกแล้วละ

Randeep as Sarabjit
                                                                                                                                                  Source

จะอวย Randeep คงต้องแยกมาอีกย่อหน้าเพราะงานนี้อวยแบบจัดเต็มไส้ปลิ้นแน่นอน โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าเขาเป็นดาราชายฝั่งบอลลีวู้ดที่ถูกประเมินต่ำไปหน่อย ได้เล่นหนังที่ไม่ได้ดังมากอะไร บทก็ออกแนวตัวร้ายตัวโกงหรือถ้าเป็นพระเอกก็ออกแนวเซ็กซี่ขยี้สาวหลายๆเรื่อง พูดง่ายๆเหมือนเป็นพระเอกแถวสองมาโดยตลอดน่ะ น่าน้อยใจ ทั้งๆที่เขามีความสามารถมาก พิสูจน์ได้จาก Highway แต่ใน Sarbjit นี้ยิ่งเห็นชัดเจนว่าความสามารถของเขามันแถวหน้าชัดๆเลย เริ่มแรกจากที่รับบทชาวนาชาวบ้าน เขาก็เป็นได้อย่างแนบเนียนสมจริง ไม่เหลือคราบตัวร้ายเท่ๆหรือพระเอกเซ็กซี่คนเดิมเลย เป็นไอ้หนุ่มชาวนาหน้าหนวดจริงๆ

Randeep before&after
                                                                                                                                                     Source

แค่นั้นยังไม่พอ เขายังต้องลดน้ำหนักอย่างมากเพื่อให้เหมาะสมกับฉากติดคุกด้วย ก่อนหน้านั้นเขาเพิ่งจบจากหนังอีกเรื่องไปที่รับบทเป็นนักมวยร่างบึ้ก แต่มาเรื่องนี้ต้องลดน้ำหนักลงมามากเป็น 20 กิโลกรัมภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือนดี สุดยอดอะ ทำได้ยังไง เรื่องการแสดงนี่หายห่วงเลย บีบคั้นมาก เริ่มแรกจากบทชายชาวนาหน้าบ้านๆ ทะเล้นกับพี่ สวีทกับเมีย โดนจับ ถูกซ้อม ทรมาน ร่างกายผ่ายผอม ผมเผ้ารุงรัง ปากแตกระแหง มีแผลตามเนื้อตัว จากสภาพที่เห็นนี่ถ้าจอหนังส่งกลิ่นได้คงต้องดมยาดมไปดูไปแล้วอะ
 
Sarabjit in jail
                                                                                                                                                  Source

ยิ่งช่วงครึ่งท้ายของหนังซีนอารมณ์นี่ฮีจัดเต็ม ทั้งกับพี่สาวและเมีย แล้วก็ลูกๆอีก มีหลายฉากตอนเข้าไปเยี่ยมกันในคุกที่เรียกน้ำตาได้หลายถ้วยตวง เราร้องไห้แบบปล่อยโฮออกมาเลยนะ ไม่อายใคร ปล่อยน้ำตาไหลพรากๆแบบไม่แคร์ว่าจะหยุดตอนไหน ตั้งแต่ดูหนังมาร้องไห้มากที่สุดก็กับ Sarbjit นี่แหละ

Randeep-in-Sarbjit
                                                                                                                         Source

และเราจะได้เห็นพัฒนาการทางอารมณ์ที่สวิงไปมาของตัว Sarabjit ได้เยอะมาก บางครั้งเขาก็หวาดกลัวและลนลาน บางครั้งเขาก็ดูมีความหวังที่จะได้รับการปล่อยตัว บางครั้งก็ออกแนวปลงอย่างคนโลกสวย บอกให้พี่สาวไปช่วยคนอื่นๆที่ตกที่นั่งเดียวกับตนบ้าง แต่บางครั้งก็หดหู่หมดอาลัยตายอยากกับชีวิตซะอย่างงั้น Randeep เก็บรายละเอียดทางอารมณ์ของตัวละครที่มันสวิงไปมาได้ดีมาก แม้กระทั่งการติดคุกนานๆแล้วมีคนเปิดหน้าต่างประตูให้แสงลอดเข้ามาแยงตาที เขาก็ทำสมจริงมากจนสะพรึง เหมือนไม่ได้แสดง เหมือนเขาไปแอบถ่ายมา ถ้าเราเปรียบการแสดงของแอชเหมือนเทพีในภาคเกรี้ยวกราด การแสดงของ Randeep ก็เหมือนเทพบุตรที่แสนอ่อนไหวและเจ้าน้ำตา เล่นซะขนาดนี้ถ้าไม่ได้นำชายนำหญิงนี่มีเคืองนะพูดเลย

Sarbjit-Movie
                                                                                                                         Source

ทีมนักแสดงคนอื่นๆก็ดีงามไม่แพ้กัน ทั้ง Richa Chadda ที่เล่นเป็นเมียผู้ทุกข์ตรมได้อย่างไม่มากไม่น้อย ที่สำคัญเลยรูปหน้าเธอเหมือนกับเมียตัวจริงของ Sarabjit Singh ด้วยสิ เด็กที่เล่นเป็นลูกสาวในช่วงโตก็เล่นดี คุณพ่อแก่ๆแม้จะบทไม่ได้เยอะมากก็เล่นดี คุณพี่เขยก็ไม่เลว คุณทนายทั้งคนใหม่คนเก่าก็สมบทบาทมาก กล้าพูดเต็มปากแคสติ้งทั้งคณะล้วนดีงาม หาที่ติอะไรไม่ได้เลยให้ตาย ขอดื่มคารวะเป็นจอกที่สาม

อีกอย่างที่ต้องอวยคือ score ประกอบหนัง เร้าอารมณ์ได้อย่างถูกจังหวะมาก เริ่มเรื่องมามีเพลงที่สื่อถึงความเป็นประเทศอินเดีย ยิ่งใหญ่และสวยสดงดงาม ฉากเศร้าๆพีคๆนี่ก็ขยี้หัวใจกันคามือ เมโลดี้มันกรีดลึกไปกับความโศกเศร้าของชะตากรรมเบื้องหน้าเรามาก ทุกอย่างถูกใส่ลงมาถูกจังหวะและลงตัวไปหมด มีเพลงเต้นหนึ่งเพลงสำหรับใครที่อาจจะยังอยากดูการเต้นอยู่ มันมาในฉากงานหมั้นของพี่สาวตั้งกะต้นๆเรื่อง ในฉากนี้เราจะได้เห็น Randeep ในมาดที่ไม่คุ้นตาอย่างแรง ออกมาเต้นส่ายก้นดุ๊กดิ๊กๆหน้าหนวด โอ๊ยย มันเขี้ยวมาก เราจำได้ว่าเท่าที่เคยดูหนังฮีมาเจอเต้นแค่สองหรือสามเรื่องเอง แต่ Sarbjit นี่ฮีเต้นสะบัดที่สุดละ น่ารักไปอีกแบบ ส่วนแอชเธอก็เต้นได้ดีงามของเธออยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าแปลกใจ Richa ก็ทำได้ดีพอตัวกับเพลงเต้นนี้ พวกเพลงช้ามีอีกจำนวนนึง จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่แน่ แต่ก็ออกแนวมิวสิควิดิโอนี่แหละ ดูเพลินๆ ปูเนื้อเรื่องกันไป ไม่ได้เป็นเพลงที่ขัดจังหวะจนเหมือนเป็นส่วนเกิน

Dalbir Kaur
                                                                                                                         Source

ไปดูเหอะ พูดจริงๆ เป็นการจ่ายเงิน 350 บาทเพื่อเข้าไปนั่งร้องไห้ที่โคตรคุ้มนะบอกเลย ไปลิ้มรสความโศกเศร้า ความกดดัน ความคับแค้นใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อเราพบเห็นคนที่ได้รับความอยุติธรรม ได้เห็นความหาญกล้าของผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้เสพย์งานแอ็คติ้งดีๆ ถือว่าคุ้มมากสำหรับเงินเท่านี้

จอกสุดท้ายเราขอคารวะให้กับผู้คนที่หาญกล้ายืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมและเพื่ออิสรภาพ


 


Monday, 2 May 2016

Ki & Ka

 
อย่างที่เรามักจะชอบพูดไว้เสมอว่าเราติดใจหนังอินเดียตรงที่หนังอินเดียมักมีประเด็นในการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร หลายๆครั้งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเรื่องใหญ่อะไรเลย ตรงกันข้ามกลับเป็นประเด็นง่ายๆใกล้ๆตัวที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนแต่เราไม่เคยสังเกตหรือจับเอามันมาขบคิด ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน เมื่อวันที่ 1 เมษาที่ผ่านมาเราได้ไปดู Ki & Ka หนังที่นำแสดงโดย Arjun Kapoor และ Kareena Kapoor Khan มา ไปดูในวันแรกและรอบแรกที่หนังเข้าเลยนะเพราะเป็นหนังที่อยากดูมากๆ เนื้อหาของหนังจับเอาประเด็นของบทบาทคู่รักหญิงชายตามที่สังคมคาดหวังมานำเสนอ แต่เลือกที่จะเสนอในมุมกลับว่าถ้าหากบทบาทและหน้าที่ของคู่รักหญิงชายสักคู่ มันตรงกันข้ามกับความคาดหวังของผู้คนในสังคมละ มันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

                                                                  Source


เริ่มเรื่องที่ทั้งพระเอกนางเอกของเราพบกันบนเครื่องบิน ทั้งสองคนดูจะปิ๊งๆกันแต่แรกแล้วมั้งแต่นางเอกไม่ยอมรับ บอกแค่ว่ารู้สึกพระเอกเป็นคนแปลกๆดีเลยอยากจะติดตามต่อว่าจะเป็นคนแบบไหน ติดตามกันไปมาเลยรู้ว่าพระเอกไม่ชอบที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน มีความฝันอยากเป็นแบบแม่ของตัวเองคือเป็นพ่อบ้านอยู่กับบ้าน ดูแลบ้านและอาหารการกินในขณะที่เมียออกไปทำงาน ส่วนนางเอกเองก็ทำงานฝ่ายการตลาดและกำลังรุ่งซะด้วย พระเอกเลยรู้สึกว่าเราสองคนช่างเหมาะเจาะกันก็เลยขอแต่งงานมันซะเลย พอแต่งไปแล้วทั้งคู่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่มันเกิดจากความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาทของชายหญิงในชีวิตคู่ ทั้งคำถามความสงสัยล้วนแต่ประดังประเดกันเข้ามา นอกจากนี้เมื่อฝ่ายชายเริ่มมีความป็อบปูล่าร์มากขึ้น ความรู้สึกฝ่ายหญิงที่เหมือนจะเป็นช้างเท้าหน้ามาตลอดก็เริ่มมีอาการสั่นคลอนให้เห็น ซึ่งทั้งสองคนก็ต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ไปตามเรื่องตามราว

                                                                         Source
ที่อยากจะชมออกนอกหน้ามากๆเลยก็คือการ cast ตัวแสดง กับบทผู้ชายวัย 30 โดยประมาณที่ไม่มีความทะเยอทะยานในการมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตนอกบ้านแต่กลับมีใจฝักใฝ่ยกย่องการเป็นแม่บ้านที่อยู่แต่กับบ้านเพื่อดูแลบ้านหุงหาอาหาร บทนี้ในบรรดาดาราบอลลีวู้ดชายวัยไล่เลี่ยกันกับบทเรายังไม่เห็นใครที่จะเหมาะไปกว่าหมีชุน (ติ่งอินเดียเรานิยมเรียก Arjun Kapoor แบบนี้จ้ะ) อีกแล้ว คือมันใช่มากๆอะ บทนี้ไม่สามารถจะเป็นของคนอื่นไปได้เลยจริงๆ นึกไม่ออกว่าถ้าเอาคนอื่นมาเล่นมันจะออกมาแบบไหน ต้องหมีชุนคนเดียวเท่านั้นเลย ในส่วนของ Kareena นั้นตอนแรกเราออกจะตกใจอยู่หน่อยๆที่มีข่าวว่าสองคนนี้รับเล่นหนังคู่กัน ด้วยอายุจริงของนางที่แก่กว่าหมีชุนหลายปีอยู่ 5-7 ปีนี่ละจำไม่แม่น เราเลยกลัวว่ามันจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ๊กินเด็กหรือเปล่า ถ้าประเด็นหนังเองมันว่าด้วยความเป็นเจ๊กินเด็กก็แล้วไป ถือว่า cast มาได้ปังจริงๆ แต่เอาจริงก็ไม่ขนาดนั้น ตามบทแล้วนางเอกแก่กว่าพระเอกแค่ 2 ปี แต่ที่ยังทำให้เราชอบได้มากคือคาแร็คเตอร์ของนางเอกที่เป็นสาวบ้างาน ไม่ได้สนใจความรักและการสร้างครอบครัวเท่าไหร่ นางอาการหนักขนาดที่มองว่าการท้องคือชีวิตพัง หน้าที่การงานที่เพียรสร้างมาจะจบสิ้นเพราะท้องเด็กแค่คนเดียว (ดูตอนแรกก็สะพรึงมาก คือตัวเราเองไม่คิดมีลูกนะยังตกใจกับรีแอ็คชั่นนางเอกตอนคิดว่าท้องได้มากมาย) เราไม่คิดว่าดาราหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันนี้จะมีใครเหมาะสมกว่าบทมากไปกว่า Kareena อีกแล้ว ทั้งพระเอกนางเอกคือใช่มาก

                                                                                         Source

อีกจุดที่ชอบเลยคือการแทรกเอาความเป็นไปในโลกปัจจุบันเข้าไปใส่ในหนังได้ดี ตัวอย่างก็เช่นการที่พระเอกกับนางเอกเลือกที่จะมีชีวิตคู่แบบสลับบทบาทหญิงชายจากความคาดหวังของสังคม มันเลยทำให้อยู่ๆฝ่ายชายเป็นที่ป็อบปูล่าร์ขึ้นมาหลังจากข่าวแพร่สะพัดออกไป จนทำให้เขาได้รับเชิญไปพูดในงาน Ted Talk รวมทั้งได้งานพิธีกรรายการทำอาหารและได้เป็นพรีเซนเตอร์น้ำมันพืช ส่วนแม่นางเอกทำงานในองค์กรอิสระอะไรสักอย่างที่เคลื่อนไหวในสังคม แถมขุ่นแม่ยังบอกนางเอกด้วยว่าต้องมีเซ็กซ์ก่อนที่จะแต่งงานนะ โหววว ขุ่นแม่เริ่ด ถึงไอ้เนื้อเรื่องส่วนนี้จะไม่ใช่อะไรที่เป็นประเด็นมากมายเท่าไหร่แต่เรา รู้สึกว่ามันสมจริงสมจังที่จะเป็นส่วนเติมเต็มดีอะ รู้สึกมันเป็นการเสริมเสน่ห์ให้หนังอย่างบอกไม่ถูก รวมทั้งมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องบนเตียงด้วย ปกติพอฝ่ายชายเริ่มมูฟเข้ามาใกล้ๆเป็นสัญญาณ ฝ่ายหญิงก็จะแกล้งบ่นปวดหัวนั่นนี่อิดออด ในหนังนี่กลับกันเลยจ้า คุณนางเอกมาตุแง้วๆใส่พระเอกของเราก่อน แล้วฮีก็บ่นว่าปวดหัวนั่นนี่ เฮ้ย มันน่ารักไปอีกแบบอะ ดูแล้วอมยิ้มได้เลย อ้อๆ แล้วเพลงปิดท้ายมีให้หมีชุนใส่รองเท้าส้นสูงสีแดงด้วยนะ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ารองเท้าส้นสูงคือสัญลักษณ์แห่งความเฟมินีน แถมสีแดงสดเข้าไปอีก นับถือฮีมากที่กล้าใส่ แถมใส่เต้นด้วย บอกได้คำเดียวว่า "น่ารักอะ"

                                                                                         Source

แต่สิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นบท หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่ามันธรรมดานะกับการที่ชีวิตคู่ของชายหญิงคู่นึงจะมีฝ่ายหญิงที่ออกไปทำงานหาเงินส่วนฝ่ายชายอยู่บ้านดูแลบ้านและลูก แต่เอาจริงๆแล้วเราไม่ค่อยรู้กันหรอกว่าคนคู่นั้นเขาจะต้องผ่านความกดดันที่มาจากความคาดหวังของสังคมยังไงบ้าง เกาะผู้หญิงกิน? แมงดา? ไม่มีน้ำยาหาเลี้ยง? ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหน้า? ผู้หญิงอวดเบ่งวางอำนาจ? คำถามที่ยิงมายังคนทั้งคู่ยังมีได้อีกร้อยแปดเลยนะ แต่เรามักจะลืมกันไปว่าคู่ที่มีแบบแผนที่แตกต่างออกไปเขาอาจจะต้องเผชิญกับสิ่งนี้ และพวกเราบางคนนี่แหละก็เคยตั้งคำถามในใจเบาๆเหมือนกัน (บางคนก็ไม่เบาเพราะเล่นจับกลุ่มเมาท์กันเป็นทีมเลยคร่าบ) เวลาที่เราเห็นคู่รักที่เป็นแบบในเรื่องนี้ หนังเลือกที่จะตอกย้ำประเด็นที่ว่าสังคมจะไม่ค่อยยอมรับและตั้งคำถามกับผู้ชายที่ไม่อยากจะมีชีวิตการทำงานนอกบ้านโดยการให้พ่อของพระเอกเป็นคนก่นด่าลูกชายเสียเอง ตัวพ่อนี่ด่าถึงขนาดที่ว่าให้ก้มดูที่หว่างขาสิว่ายังเป็นผู้ชายอยู่หรือเปล่า เฮ้ย มันแรงมากเลยนะ ลำพังคนในสังคมจะติฉินนินทายังไงว่าเกาะเมียกินหรือไม่มีน้ำยาหาเงินก็แล้วไปเถอะ ยังไงมันก็คนอื่น แต่นี่พ่อตัวเองเลยนะถามลูกชายแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ประเด็นเล็กๆเลย ลองคิดถึงเป็นตัวเองดูก็ได้ อ้ะ ถ้าคุณเป็นผู้หญิงแล้วมีแฟนที่เป็นแบบพระเอกในเรื่องนี้เด๊ะ (ฮีจบ mba ด้วยซ้ำนะแต่พอใจที่จะเป็นแม่บ้าน เอ้ย พ่อบ้าน) คุณจะอธิบายพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายคุณยังไง ไหนจะเพื่อนๆอีก แฟนเพื่อนในกลุ่มเป็นนี่เป็นนั่น แฟนอินั่นจะเรียนโรงเรียนเสธ. แฟนอิโน่นเป็นอาร์ทไดเร็คเตอร์ แฟนอินู่นเป็นที่ปรึกษากฎหมาย แฟนอี...เปิดร้านชาบูแถวซอยอารีย์ ส่วนแฟนฉันพอใจจะเป็นพ่อบ้าน คุณจะสามารถพูดบอกใครต่อใครเหมือนแม่งไม่มีอะไรเลยได้จริงๆน่ะเหรอ อ้ะ ส่วนถ้าคุณเป็นผู้ชายที่คิดเหมือนอิตาพระเอกนี่ คุณจะกล้าขอผู้หญิงแต่งงานมั้ย จะบอกพ่อแม่ฝ่ายหญิงยังไงว่าแต่งไปแล้วลูกสาวคุณหาเงินเข้าบ้านเป็นหลักนะฮะ ส่วนตัวผมนั้นจะอยู่บ้านปัดกวาดเช็ดถู ทำกับข้าวอร่อยๆไว้คอยท่าคุณเธอหลังเลิกงาน คุณกล้ายืดอกบอกจริงๆเลยหรือเปล่า เราพนันได้เลยว่าไม่มีใครสามารถพูดเรื่องนี้ออกไปได้อย่างราบรื่นเหมือนไม่มีอะไรแน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะค่านิยมและความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของหญิงและชายในชีวิตคู่มันกดทับพวกเราเอาไว้มานาน นานมากจนเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาถ้าเราเลือกจะทำในทางตรงกันข้าม หนังนำเสนอประเด็นนี้ได้เป๊ะๆแบบตีแสกหน้าเลย หนังพยายามบอกกับคนดูว่าสิ่งที่คู่รักต้องเผชิญจากผู้คนรอบข้างหากจะเลือกมีชีวิตแบบนี้ยังไม่สำคัญเท่าความภูมิใจที่มีในตัวกันและกัน แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะหาเงินได้มากกว่าขณะที่ฝ่ายหนึ่งทำงานบ้านและกับข้าวอยู่ที่บ้านทุกวันก็ตาม

                                                         Source

เหมือนจะชมมากเลยใช่มั้ย แน่นอนว่าข้อเสียก็มี เราว่าพระเอกกับนางเอกดูรักกันง่ายไป นับจากที่เจอกันไปถึงตอนแต่งงานมันเหมือนใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีอะ คือถ้าเป็น arranged marriage จะไม่แปลกใจเลยไง แต่นี่ก็เลือกเองรักเอง แต่เฮ้ย รักกันไวไปมั้ย คิดว่าพร้อมแล้วเหรอกับคนๆนี้ ถ้าหนังจะทำแบบโง่ๆเลยโดยการขึ้น caption ว่าผ่านไปแล้ว .... เดือน หรือเวลาผ่านไป 1 ปี มันจะดูดีกว่านี้มากแม้จะเป็นวิธีที่อีเดียทพอสมควรก็ตาม อีกจุดนึงที่จะติก็คือการ tie-in สินค้า ไอ้สกูตเตอร์ไฟฟ้าตอนนี้คงฮิตมากในอินเดียแหละมั้ง แล้วอิแบรนด์นี้คงเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ หนังเลยใส่บทว่าลุงของพระเอกให้เป็นของขวัญ ฮีเลยพามันติดตัวไปใช้ด้วยทุกที่ ตอนเครียดก็ขับออกมาเพื่อขี่วนไปวนมาในลักษณะเดียวกับเวลาคนเครียดแล้วเดินวนไปวนมาน่ะ คือดูแล้วมันแบบ เฮ่ย มึงไม่ต้องใส่อีสกูตเตอร์มาในหนังมากขนาดนี้ก็ได้มั้ง มันเห็นเยอะมาก รู้สึกว่าน่าจะล้างสมองให้คนอยากได้ตามได้ผลจริงๆเลยอะ ถ้าราคามันพอๆกับไอโฟนนี่คนคงซื้อกันเยอะแล้วหลังจากดูหนังนี่จบ

                                                                                         Source

ขอวกกลับมาที่หมีชุนนิดนึงนะ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นการแสดงของฮีที่เราชอบที่สุดแล้วอะ (ก่อนหน้านี้จะเป็นจากเรื่อง 2 States) เรารู้สึกมาตลอดว่าเขาไม่ใช่คนมีฝีมืออะไรมากมายแต่ก็ไม่ถึงกับกากจนต้องด่าบ่อยๆ แค่คิดว่าเขายังหาสไตล์ที่ชัดเจนของตัวเองไม่เจอมากกว่า จะบู๊ไปเลยก็ไม่ใช่ ไม่ได้บู๊เก่งน่าประทับใจอะไรขนาดนั้น จะเป็นพระเอกนักรักเล่นหนังรักหวานๆก็ยังไม่อิน หรือจะฮาจะตลกตลอดเวก็ยังไม่ได้อีก อาจจะเพราะความที่เราอินมากกับหนังเรื่องนี้หรือเปล่าไม่รู้ เราคิดว่าบทที่หมีชุนเหมาะมากต้องประมาณนี้ละ ไม่บู๊ ไม่ฮาก๊าก แต่เป็นพระเอกที่ถ่ายทอดความเป็นผู้ชายแห่งยุค post modern ได้ดี (post modern คืออะไรตามไปดูได้ที่นี่) ผู้ชายแบบที่กล้าจะทำอะไรที่แหวกขนบหรือฉีกแบบแผนเหมือนกับบทใน Ki & Ka นี่แหละ ไม่ใช่ผู้ชายที่บู๊แหลกแมนถึกแบบยุคบอลลีวู้ดเฟื่องฟู แล้วก็ไม่ใช่ผู้ชายนักรักอย่างในหนังยุค 90 ด้วยเหมือนกัน บทบาทประมาณคนหนุ่มไฟแรงที่ทำ start up แล้วประสบปัญหาเพื่อนหักหลังเอย คู่แข่งขโมยไอเดียเอย และต้องฝ่าฟันให้สำเร็จโดยลำพังอะไรทำนองนี้จะอินมาก บทพระเอกโลกใหม่ที่ไม่ขายความเป็นนักบู๊และนักรักน่าจะเหมาะกับหมีชุนที่สุด อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะ ใครคิดเห็นยังไงก็เมนท์บอกกันได้

สรุปแล้วหนังเรื่องนี้อยากให้คนที่มีแนวความคิดชอบตั้งคำถามกับค่านิยมหรือกรอบประเพณีเดิมๆได้ลองดูกัน (อีพวกที่เป็นแฟนคลับรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกาและเคน-นครินทร์นี่สมควรดู) ดูแล้วน่าจะนำไปขบคิดอะไรต่อยอดได้ไม่มากก็น้อยอะนะ พวกพ่อบ้านใจกล้าจะชวนกวางน้อยมาดูด้วยก็น่าจะได้อรรถรสไปอีกแบบ ดูแล้วไปเถียงกันต่อว่าหน้าที่งานบ้านควรจะเป็นของใครหรือควรจะแบ่งๆกันทำตามความถนัดดี แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม Ki & Ka บอกให้เรารู้ว่าถ้าคนสองคนรักกันจริง เสียงนกเสียงกาจากสังคมรอบข้างก็ไม่มีทางทำให้หมดรักกันได้แน่นอน