Tuesday, 13 September 2016

Baar Baar Dekho

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเราไปดู Baar Baar Dekho มาละ เป็นหนังจากฝั่ง Bollywood ที่ตอนแรกสุดเลยไม่ได้นึกอยากดูมากเท่าไหร่ สาเหตุอาจจะเป็นเพราะเราเองไม่ใช่แฟนของ Katrina Kaif ก็เป็นได้ ถึงแม้จะรู้ว่าพระเอกของเรื่องเป็น Sidharth Malhotra ขวัญใจเราก็ตาม และแล้ววันนึงในช่วงที่หนังอยู่ระหว่างการถ่ายทำ เราก็ได้เห็นภาพจาก IG ของ Sid ที่มาถ่ายบน BTS ถือตั๋วรถไฟฟ้าหันหน้าสู้กล้อง วินาทีนั้นบอกตัวเองเลยว่าชั้นจะต้องดูหนังเรื่องนี้ให้ได้แน่นอน จนเพลงออก trailer ออกก็ยิ่งพบว่าเป็นหนังที่น่าสนใจมาก เป็นหนังรักข้ามเวลาที่ดูมีความเป็นไซไฟผสมอยู่ซึ่งเป็นแนวทางที่เราชอบอยู่แล้ว แต่ไม่นานทางผู้สร้างก็ออกมาบอกว่ามันไม่ใช่หนังไซไฟนะ จนเมื่อเสาร์ที่ผ่านมาเราก็ได้พิสูจน์กับตาตัวเองแล้วว่า Baar Baar Dekho ไม่ใช่หนังไซไฟอย่างที่บอกจริงๆด้วยแหละ

Baar Baar Dekho
                                                          Source

Baar Baar Dekho จัดว่าเป็นหนังรักที่มีดีกรีความดราม่าพอประมาณ มีคอเมดี้เบาๆ แต่สิ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่าจะมีความไซไฟนั้นเป็นความดีงามของการตัดต่อและบทมากกว่าที่ขับเน้นให้อารมณ์คนดูไปผูกกับความเป็นไซไฟที่ไม่มีอยู่จริงในหนังได้แบบเนียนๆ เส้นเรื่องก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก หนังพูดถึงความรักของ Jai Verma และ Diya Kapoor ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เล็กๆ พอโตเข้าวัยรุ่นก็กลายเป็นแฟนกัน จนเรียนจบและทำงานก็ยังคบกันอยู่ Jai เป็นอาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ในมหาลัย ส่วน Diya เป็นจิตรกร แล้ววันดีคืนดีนางก็ขอผู้แต่งงานจ้า แต่ผู้กลับเกิดอาการลังเลเพราะฮีเพิ่งสมัครไป Cambridge ฮียังอยากจะโฟกัสกับงานมากกว่าเพราะคณิตศาสตร์คือชีวิตของฮี แต่ด้วยความที่ Diya เป็นคนนำในการตัดสินใจทุกอย่างมาตลอดตั้งแต่เด็ก (แน่นอนว่านางไม่ approve เรื่องย้ายถิ่นแน่นอน) เลยกลายเป็นว่า Jai ต้องตอบตกลงแต่งงานไปโดยปริยาย มิหนำซ้าครอบครัวของนางก็เข้ามาวุ่นวายจนค่อนข้างน่ารำคาญ คุณว่าที่พ่อตา (รับบทโดย Ram Kapoor) ก็เอาแต่พร่ำถึงท่านเทพหนุมานตลอดๆ Jai คงเซ็งไม่น้อย จนมาถึงช่วงวันสุกดิบ Diya พาไปดูอพาร์ทเมนท์ที่ทั้งคู่จะใช้เป็นเรือนหอ ตอนนั้น Jai ถึงคิดได้ (ผู้ชายเราเรียกคิดได้ แต่ผู้หญิงคงเรียกว่าสับสน ฮ่าๆ) ว่าตัวเองเหมือนจะไม่ได้ต้องการชีวิตการแต่งงานตอนนี้ ฮีเลยระเบิดออกไปจน Diya เสียใจวิ่งกลับบ้านไป แล้วฮีก็ดื่มแชมเปญเข้าไป ตื่นมาอีกทีอ้าว กูโผล่มาภูเก็ตไทยแลนด์แดนสยามได้ยังไง แต่งงานมาเป็น 10 วันและมาฮันนีมูนเหรอ Jai ดูงง สับสน เอ๋อ กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เขาพูดกับ Diya และแม่ของตัวเองแต่ก็เหมือนไม่มีใครเข้าใจ จนเขาหลับไปอีกทีก็วาร์ปไปยังอนาคตที่ Cambridge ตรงช่วงเวลากับที่ Diya น้ำเดินจะไปคลอดลูกพอดี เขาก็เกิดอาการงงเอ๋ออีก เหมือนไม่รู้ทาง คันไหนคือรถเรา โรงพยาบาลไปทางไหนก็ไม่รู้ แล้วไอ้เหตุการณ์แบบหลับไปแล้วตื่นข้ามไปในอนาคตก็เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เขาได้เห็นความผิดพลาดและความพังของชีวิตคู่หลายอย่าง ร้ายแรงถึงขั้นหย่ากันและ Diya ก็แต่งงานใหม่ คนดูก็จะได้ลุ้นว่า Jai จะมีโอกาสได้กลับไปแก้ไขความผิดมั้ย หรือจะสามารถย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนแต่งงานแล้วเลือกที่จะไม่เริ่มชีวิตต้นคู่ได้ มีความ Butterfly Effect เบาๆว่าการตัดสินใจของเราในวันนี้จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่กับชีวิตเราและคนใกล้ตัวเราในอนาคต

Sid-Kat
                                                                                        Source

สำหรับอย่างแรกที่จะชม โอ๊ยยยย Sid หล่อลากในทุกช่วงวัย ยิ่งตอนที่เป็นอาจารย์ในมหาลัยแล้วสอนนักศึกษานี่ดูแล้วถึงกับเพ้อ พวกนางเหล่านั้นนั่งฟังอาจารย์อย่างเคลิ้มเลย ออดหมดเวลาแล้วพวกนางก็ไม่ลุก มีการให้อาจารย์ให้แบบฝึกหัดเพิ่มอีก เรานี่คิดในใจเลย แหม่ ถ้ากูได้ครูสอนเลขแบบนี้นะ กูคงไม่เทวิชาเลขทิ้งตั้งกะป.5 หรอกว่ะ ฮ่าๆๆ คงจะขยันมากและเป็นเซียนเลขไปแล้วเพราะจะเข้าหาครูทุกเช้าเย็น ในทาง Kat ก็น่ารักมีเสน่ห์แบบที่เราไม่คาดคิดมาก่อน มองเพลินตามากเลย


cinematography ก็ดีงาม ภาพสวยมาก ฉากก็สวย ฉากสิ่งก่อสร้างและเทคโนโลยีที่ใช้ในอนาคตดูเรียลดี ดูแล้วเชื่อว่ามันจะมีของพวกนั้นใช้จริงๆ ชอบฉากเผาศพแม่ Jai ในอนาคตมากๆ ผสมผสานวัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมตะวันตก และความเป็นโลกอนาคตได้อย่างลงตัวสุดๆไปเลย ภาพก็ย้อมสีสวยมาก ดูอบอุ่นแต่สดใสในเวลาเดียวกัน

เสื้อผ้าก็สวยดี ดูเข้ากับทุกคน แต่เมคอัพหน้าแก่ไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ ดูไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหน้าเดิม ดูรู้ว่าทำขึ้นมาเฟคๆ รอยย่นยังไม่เนียน แต่ผมหงอกผมขาวทำดีแล้ว โดยเฉพาะผมของ Sid หรือตัวละครชายคนอื่นๆ ดูสมจริงตามอายุดี ไม่ค่อยหลอกตา ผมผู้หญิงยังดูเนียนไม่เท่าผมผู้ชายแต่เทียบแล้วดีกว่าการแต่งหน้าที่จัดว่าพังกว่าเยอะ


สำหรับเพลงในเรื่องก็มีประมาณ 3-4 เพลง แต่เพลงเด็ด Kala Chasma จะเอาไว้หลังหนังจบเลย ไม่มีในตัวหนัง เป็นอีกเพลงนึงที่ได้รับความสนใจมากใน YouTube ฝรั่งมังค่าเกาหลงเกาหลีก็แห่มาทำวิดิโอ reaction กันให้รึ่มเลย แต่นี่เกลียดท่าเต้นยักคอมาก คนอื่นทำไม่เท่าไหร่ แต่ทนไม่ไหวเวลาเห็น Sid ทำท่านี้ ฮ่าๆ การเต้นก็อย่างที่รู้ๆกัน Kat นางเต้นแข็งแรงและดีมาก ส่วน Sid ก็นะ เต้นตามได้ครบและพร้อมเพรียงกับชาวบ้านดีแต่อินเนอร์หาได้มีไม่ตามสไตล์ฮีนั่นแหละ แต่ก็ร๊ากกกก 

ฺBaar Baar Dekho - Sid-Kat
                                                                                          Source

ยังไม่ได้พูดถึงเนื้อเรื่องตอนที่ชอบเลย เราชอบการที่หนังให้ Diya ถาม Jai ซ้ำๆทุกครั้งในการข้ามเวลาของ Jai ว่าทำไมเธอถึงรักฉัน แล้ว Jai ก็จะตอบซ้ำประมาณว่าเพราะคุณคือภรรยาผม ไม่ก็เพราะคุณคือภรรยาและแม่ของลูกผม เราฟังคำตอบแล้วเลิกคิ้วแบบ eyebrow on fleek เลยทีเดียว เฮ้ย มันใช่เหรอวะ ถ้าไม่ได้แต่งงานออกหน้าเป็นภรรยา ไม่ได้มีลูกให้ แบบนี้คือไม่รักปะ เธอตอบคำถามผิดแล้ว Jai เป็นเราๆจะตอบว่าความรักมันมีเหตุผลด้วยเหรอ ด้วยความที่ Jai เป็นอาจารย์สอนเลขที่ดูเหมือนจะทำอะไรต้องมีเหตุผลตลอดเวลา เราว่าถ้าตอบแบบนี้มันจะดีกว่ามาก ประมาณว่าเหตุผลเอาไว้ใช้กับงานแต่เรื่องรักไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล หรือไม่ก็ตอบอะไรทำนองว่ารักที่เธอเป็นเธอก็ยังได้ จนในที่สุด Jai ก็ตอบคำถามถูกซะทีว่า รักคุณเพราะคุณคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของของผม อะโหย โคตรได้ใจอะคำตอบนี้ ดูซึ้งกว่ารักไม่ต้องมีเหตุผลของกูอีก

BBD
                                                                                         Source

ส่วนตัวมองว่าการขยี้ปมและการคลี่คลาย conflict ของหนังยัง cliché เกินไป พูดกันตรงๆว่าสามัญสำนึกคนเราอะมันก็คิดอยู่แล้วละว่าไอ้การเดินทางข้ามเวลามันไม่มีจริง หนังดีตรงที่ใช้การตัดต่อและไดอะล็อกส่วนนึงเบี่ยงเบนความสนใจให้คนพุุ่งไปที่ความไซไฟแทนที่จะใช้สามัญสำนึกเดิมๆ แต่พอเราเริ่มเห็นเค้าลางว่าหนังจะจบแบบ happy ending แน่นอน เราก็เดาได้หมดแล้วละว่าหนังจะเลือกใช้วิธีคลี่คลายยังไง ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่ได้เฉลยไปตรงๆว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Jai คืออะไรแน่ ตามปกติไอ้เรื่องเดินทางข้ามเวลาก็มีจุดคลี่คลายได้สองทาง เฉลยไปแม่งก็ดูทุเรศทั้งสองทาง ทางนึงก็ cliché  อีกทางก็ดูเหนือธรรมชาติเกิน เรามองว่าถ้าหนังเลือกที่จะเฉลยตรงๆก็เหมือนฆ่าตัวตายแบบโง่ๆ ซึ่งเท่าที่ทำออกมาก็โง่อยู่ดีแหละ แต่โง่แบบโฉ่งฉ่างน้อยกว่าเฉลยโต้งๆหน่อยเท่านั้นเอง 

Baar Baar Dekho - Jai-Diya
                                                                          Source

ถึงหนังจะดูสนุกแบบขาดๆเกินๆไปบ้าง (ส่วนตัวให้อภัยเพราะเป็นหนังฝีมือการกำกับเรื่องแรกของ Nitya Mehra) แต่ก็ให้ข้อคิดสอนคนมีแฟน มีครอบครัวดีนะ เรื่อง work life balance แม้จะเป็นเรื่องที่โลกเราให้ความสนใจมาตั้งแต่ในยุค 90 แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอกที่จะจัดการชีวิตให้ได้ดีแบบนั้น โลกเราจึงต้องเอามาย้ำปากเปียกปากแฉะกันแบบนี้เรื่อยไปนี่ไง สรุปได้ว่า Baar Baar Dekho มีความนุ่มนวล กลมกล่อมพอประมาณ Sid หล่อ เสน่ห์ล้นหลาม Kat ดูดี เต้นเก่ง ฉากสวย ภาพสวย ถ้าไม่คิดจับผิดรอยรั่วต่างๆหรือขี้รำคาญในความ cliché บางส่วนมากก็ถือว่าคุ้มเงินค่าตั๋วแล้วละ





Sunday, 11 September 2016

My Name Is Khan

หลายๆคนที่ไม่ใช่แฟนหนังอินเดียอาจจะยังมีความเข้าใจผิดๆว่าหนังของพระเอกอินเดียแบบ big name โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังจากพระเอกระดับซูเปอร์สตาร์จากฝั่ง Bollywood แล้วเนี่ย มักจะเป็นพวกหนังรักหวานหยด เต้นจีบกันกับนางเอกสวยๆ โชว์ท่าเต้นสเต็ปเทพ on the dance floor หรือไม่ก็เป็นหนังบู๊แบบที่ 10 รุม 1 พระเอกของเรายังรอดมาได้ หรือไม่อีกทีก็จับมาผสมกันเลย เป็นยอดพระเอกที่เป็นทั้งนักรักและนักบู๊ในคนเดียวกัน แต่เราต้องขอให้ทำความเข้าใจกันใหม่เลย หนังอินเดียเดี๋ยวนี้ไม่ใช่จะนำเสนออะไรแบบภาพเก่าๆในยุค 70-80 สมัยที่พ่อแม่เรายังเด็กอีกแล้ว พล็อตเขาพัฒนาไปไกลกว่านั้นมากแล้ว หนังอินเดียหลายๆเรื่องเลือกที่จะนำเสนอประเด็นหนักๆ แล้วก็เป็นประเด็นระดับโลกด้วยซ้ำ อย่างหนังที่เราเลือกมารีวิวในวันนี้ก็เหมือนกัน

My Name Is Khan
                                                        Source


My Name Is Khan เป็นหนังของสุดยอดซูเปอร์สตาร์ฝั่ง Bollywood อย่างป๋า SRK ของเราชาวติ่งอินเดีย พร้อมด้วยคู่ขวัญตลอดการอย่าง Kajol เนื้อเรื่องนี่แตะประเด็นที่หนักเอาการ เป็นประเด็นที่หนังทำขายหวังเงินทั่วโลกไม่ค่อยกล้าจะแตะกันสักเท่าไหร่ เพราะมันว่าด้วยความอคติที่คนอเมริกันมีต่อศาสนาอิสลาม จะบอกว่าเล่นกับ Islamophobia ก็คงจะไม่ผิดนัก เนื้อเรื่องพูดถึง Rizvan Khan ผู้ชายมุสลิมชาวอินเดียคนนึง เขาเป็น Asperger Syndrome หลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตลง น้องชายที่ย้ายไปอยู่อเมริกานานแล้วก็รับเขาไปอยู่ด้วย น้องชายเปิดบริษัทขายเครื่องสำอางแนวสปาแบบตะวันออกก็เลยให้พี่ชายผู้มีอาการเอ๋อนิดๆไปทำหน้าที่เซลล์ มีวันนึงเขาเดินทางไปขายของ เขาหยุดยืนริมถนนและมองเข้าไปยังซาลอนแห่งนึงและเจอเข้ากับสาวสวยช่างทำผม นอกจากจะขายของได้แล้วยังเหมือนจะได้ใจเธอมาอีก เธอก็เป็นคนอินเดียเหมือนกัน เธอเป็นฮินดูและเป็นแม่ม่ายลูกติด แต่ในที่สุดความผิดปกติหรือศาสนาก็ไม่ใช่อุปสรรค ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข ลูกชายก็เข้ากับพ่อเลี้ยงได้ดีไม่มีปัญหา บรรดาเพื่อนร่วมงานและเพื่อนบ้านก็ดูจะโอเคกับเขา แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ที่เปลี่ยนชีวิตของครอบครัวนี้ไปตลอดกาล ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เฉพาะครอบครัวนี้นะ ชีวิตคนทั้งโลกเลยแหละ 

Rizvan Khan
                                                                                          Source

Mi nombre es Khan
                                                                                         Source

ก่อนอื่นต้องขอชมป๋าก่อนเลยว่าเล่นเป็น Asperger ได้ตีบทแตกมากๆ เหมือน born to be เลยอะ น่ารักมากๆ เห็นแล้วต้องตกหลุมรักได้แน่ๆ คือถ้ามีคนเป็น Asperger แบบ Rizvan มาจีบนะ เป็นเราๆก็เอา ฮ่าๆๆ ป๋าเล่นได้น่ารักมากจริงๆ พอบทที่ต้องเครียดป๋าก็ทำได้ดีมาก ดูแล้วอินดูแล้วเชื่อ ตัวละครอื่นก็เหมือนกัน ทั้ง Kajol ทั้งตัวสมทบอื่นๆที่บทไม่เยอะมากต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีสุดๆ ทุกคนตรึงเราไว้หน้าจอได้แบบไม่กระพริบตาเลย เป็นอีกเรื่องที่ต้องยกตำแหน่ง "หิวข้าวกลั้นหิว ปวดฉี่อั้นฉี่" ให้เลยอะ แต่ที่เราชอบเป็นพิเศษก็คือตัวละครเด็กที่เล่นเป็นลูกชายกับเด็กอีกพวกที่เป็นเพื่อนที่โรงเรียนของเจ้าหนูนี่ จำไม่ได้ว่าพวกมันมากันกี่คน ไม่ว่าจะกี่คนก็ช่าง แค่ฉากนี้เพียงฉากเดียวมันโคตรบีบคั้นหัวใจเลย เป็นฉากที่พีคที่สุดในความเห็นของเราเลยนะ 

Rizvan and his family
                                                                                         Source

Rizvan meets the President
                                                                                         Source

อีกจุดที่เราประทับใจมากก็คือตอนที่ Rizvan เริ่มออกเดินทางไปพบประธานาธิบดี เขากลับต้องตกเครื่องเพราะความงี่เง่าของเจ้าหน้าที่ตม. เลยต้องดินทางด้วยรถบัสและเท้าแทน และเขาก็แวะหมู่บ้านของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ช่วงเวลาที่นั่นทำให้เขาเจอกับคนที่เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของเขาได้อย่างจริงใจ จนกระทั่งเขาจากมาแล้วและได้รู้ข่าวว่าพื้นที่ตรงนั้นน้ำท่วม เขาก็ย้อนกลับไปเพื่อช่วยคนในพื้นที่ให้ปลอดภัย รวมทั้งขนพรรคพวกคนมุสลิม/อินเดียจากเมืองอื่นมาช่วยด้วยอีกแรง เฮ้ย มันดีอะ มันทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้ยังมีหวังท่ามกลางกระแสความเกลียดชังหรือรังเกียจในความแตกต่าง นักแสดงที่เล่นเป็นคุณแม่คนดำนั่นก็เล่นดีมากจริงๆ ตัวอ้วนใหญ่ตามสไตล์ขุ่นแม่ผิวดำแต่จิตใจอ่อนโยน น่ารักมากๆเลย

flood
                                                                                          Source

พูดถึงเรื่องหมู่บ้านคนดำและฉากน้ำท่วมแล้วก็ต้องขอชมต่อ เราชอบเซ็ทฉากของน้ำท่วมนะ เหมือนมีพายุใหญ่เข้าอะไรสักอย่างอะ พวกภัยพิบัติแบบที่อเมริการัฐทางใต้ๆหน่อยชอบเจอกัน ไม่ใช่แค่ฝนตกเยอะแล้วน้ำท่วมอย่างบ้านเรา คือมันดูท่วมแบบภัยพิบัติมาจริงจังมาก ไม่ดูโหลกลาเล่เก๊แบบท่วมขำๆสามวันน้ำลด ท่วมแบบเซ็ทฉากในอ่างโง่ๆอะ ของเขาดูน่ากลัวจริง วิบัติข้าวของเสียหายชีวิตชิบหายล้มละลายหมดตัวไปกับสายน้ำจริงๆ

Sid as assistant director
                                                                                          Source

Varun as assistant director
                                                                                          Source

My Name Is Khan กำกับโดย Karan Johar หลายๆคนถ้าได้เห็นลุคของผู้กำกับอาจจะไม่เชื่อว่ากำกับหนังเนื้อหาแนวนี้ แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าเขาทำมันได้อย่างงดงามจริงๆ เป็นหนังผลงานของเขาที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ และก็ยังได้ 2 หนุ่มหล่อดาราลูกหม้อของเจ๊การันต์ (เอาก็เอาวะ โป๊ะแตกเรียกเจ๊จนได้ พวกเราชาวติ่งเรียกแกว่าเจ๊มานานละ เราจะแอ๊บเรียกเขางั้นเขางี้เพื่อความสุภาพก็โคตรฝืนตัวเอง อิอิ) มาร่วมเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอีกนะ ได้แก่ Sidharth Malhotra กับ Varun Dhawan ทั้ง 2 หนุ่มนี้ได้ร่วมงานกับเจ๊ในการช่วยกำกับหนังเรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าตาเจ๊และจับไปลงเล่น Student of The Year ในที่สุด (ไว้วันหลังจะรีวิวละกัน)

Rizvan on the truck
                                                                                         Source

ยังจบไม่ลง เมื่อกี้จริงๆกดเซฟเข้า stock post ไปแล้วนะหลังจากที่ลง trailer ไว้ด้านบน แต่พอได้ดูมันอีกรอบก็เลยนึกข้อชมขึ้นมาได้อีก คือซาวนด์ประกอบ score ต่างๆนี่ดีมาก ขับอารมณ์ได้ดีสุดๆ ที่สำคัญเสียงของป๋าเวลาบรรยายทุกสิ่งทุกอย่างในนั้นมันบิ้วอารมณ์ดีมาก ยิ่งตรงประโยคที่ว่า My name is Khan and I'm not a terrorist. นี่โคตรโดนอะ เสียงเพราะจังเลย

My Name Is Khan - Korean poster
                                                            Source

ก่อนจากฝากไว้เลยว่า My Name Is Khan เป็นหนังอินเดียอีกเรื่องที่เราอยากจะให้หามาดู เพื่อนๆต่างชาติเราก็ดูกันหลายคน ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ดูแล้วก็ชอบกันหมด เพราะฉะนั้นจะบอกว่า It's a must! เลยก็คงไม่เกินไปหรอก ไม่ต้องชอบป๋าก็ดูได้ ดูแล้วจะรักจะหลงป๋าแบบเราแน่นอน กล้าการันตี (ใครดูแล้วยังไม่รักให้ส่งแมสเสจมาหาเลย จะซื้อแผ่น Rab Ne Bana Di Jodi ให้ฟรีๆอีกแผ่น ดูยังไม่หลงรักอีกแม่มก็ให้มันรู้ไป๊) ยิ่งอีพวกที่ชอบมีอคติกับคนเพียงเพราะเรื่องศาสนานี่ยิ่งต้องหามาดูให้จงหนัก เผื่อมันจะช่วยลดไอ้ความเกลียดชังในใจได้บ้างไม่มากก็น้อย






Friday, 9 September 2016

Queen


มีหนังอินเดียหลายเรื่องที่ว่าด้วยผู้หญิง แต่หนังผู้หญิงที่โดดเด่นมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเห็นจะเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก Queen หนังฝั่ง Bollywood ที่เล่าถึงเรื่องราวการเดินทางในยุโรปตัวคนเดียวของหญิงสาวชาวอินเดีย เป็นหนังอีกเรื่องที่ฮอตฮิตมากในหมู่สาวอินเดีย ณ ปี 2013 ที่มันออกฉาย

Queen
                                                           Source

Queen ว่าด้วยชีวิตของ Rani หญิงสาวที่โดนหนุ่มคู่หมั้นเทก่อนงานแต่งจะเริ่มไม่ถึงสองวัน เรียกว่าฉลองกันค้างเลย และมันทำให้เธอตัดสินใจบินไปทริปฮันนีมูนที่จองและจ่ายไว้แล้วเพียงคนเดียว สำหรับทริปนี้เป้าหมายคือฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ การเดินทางแบบฉายเดี่ยวของ Rani ครั้งนี้ทำให้เธอได้พบกับผู้คนใหม่ๆมากมาย ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต ช่วงเวลาในต่างแดนของ Rani จะเป็นยังไงบ้าง เหมือนเดิมฮะ ไปดูกันเองในหนังเลย


ตัวหนังได้แสดงให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ของวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมแบบอินเดียและวัฒนธรรมจากโลกเสรีแบบตะวันตกในหลายๆจุด ซึ่งตรงนี้นี่แหละที่เราคิดว่ามันได้ใจสาวๆชาวอินเดียไปหลายคน อย่างเช่นการเดินทางไปไหนไกลๆคนเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปเที่ยวแบบคล้ายๆแบ็คแพ็คอย่างนี้ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับชีวิตของผู้หญิงอินเดียหลายคน การที่มีตัวละครออกมาทำสิ่งนี้แทนก็เหมือนได้ปลดปล่อยความคิดความฝันของตัวเองให้โลดแล่นไปกับตัวละครได้ดีมาก 

Rani and Vijayalakshmi
                                                                                          Source

หรือตอนที่ Vijayalakshmi จองที่พักให้เธอในเนเธอร์แลนด์เป็นห้อง dorm ใน hostel ที่ต้องนอนรวมกันหลายคนแบบไม่แยกหญิงชาย สิ่งนี้ก็ถือเป็นอะไรที่ผู้หญิงอินเดียส่วนมากไม่คุ้นเคยและไม่อาจจะทำมันได้แบบสะดวกใจเท่าไหร่ แล้วไหนยังจะตอนที่ Vijayalakshmi นัดผู้ชายที่นางคั่วอยู่มามีอะไรกันในห้องโรงแรมที่นางทำงานเป็น maid อีกละ ผู้หญิงอินเดียแบบ typical Indian woman ไม่ทำอะไรแบบนี้แน่ๆ อย่างมากก็มีอะไรกับแฟนตัวเองที่คบออกหน้าออกตา แต่เราเชื่อว่าลึกๆจะต้องมีหลายคนแหละที่อยากลองใช้ชีวิตฟรีๆแบบสาวจากฟากฝั่งตะวันตกดูบ้าง แต่ก็ไม่กล้าเพราะวัฒนธรรมมันค้ำคอไว้ ตัวละคร Rani กับ Vijayalakshmi ได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนในการปลดแอกทางวัฒนธรรมบางอย่างให้กับผู้หญิงอินเดีย ให้พวกเธอได้รู้สึกว่าเธอก็สามารถทำอะไรได้อย่างที่ผู้หญิงอื่นๆจากครึ่งค่อนโลกเขาทำกัน ความฟินตรงนี้คนดูจากชาติอื่นหรือแม้แต่คนไทยอาจจะไม่ค่อยเข้าใจหรืออินเท่าไหร่ หมายถึงไม่อินได้เท่าสาวอินเดียน่ะ แต่ส่วนตัวแล้วเรารู้ดีว่าชีวิตผู้หญิงอินเดียมันประมาณไหน เลยเข้าใจได้แบบไม่ยากเย็นเลยว่าทำไม Queen ถึงโคตรโดนใจพวกนาง

Rani with friends
                                                                                          Source

มุกตลกที่เล่นในหนังก็น่ารักดี อย่างเช่นตอนที่ Rani เข้าไปใน sex shop โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นร้านที่ขายเกี่ยวกับอะไร แล้วก็เลือกซื้อของไปเป็นของฝากคนทางบ้าน เพื่อนๆของ Rani ขำกันใหญ่ที่นางไม่รู้จักว่าของพวกนั้นเอาไว้ทำอะไร ซึ่งนี่ก็เป็นธรรมดาของผู้หญิงอินเดียที่อยู่อินเดียจริงๆอะ มีไม่มากหรอกที่จะเดินเข้าร้านทำนองนั้นแล้วรู้ไปหมดเลยว่าอันไหนไว้ทำอะไร ฮ่าๆ แล้วก็มุกที่ฝรั่งกินอาหารอินเดียแล้วเผ็ดตาเหลือกแต่สุดท้ายก็กลับมาติดใจอีก ถึงมันจะดูเชยๆหรือดูจงใจให้ประเด็นมันลงเอยแบบแฮปปี้ แต่เราว่ามันคือสิ่งที่หลายๆคนเคยรู้สึกกับอาหารอินเดียมาก่อนนั่นแหละ

Rani is crying
                                                                                          Source

ถึงแม้ว่าตัวละครอื่นๆจะทำหน้าที่ของตัวเองไม่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็น Rajkumar Rao ที่รับบทเป็นอีคู่หมั้นหนุ่มจอมเท Lisa Haydon ที่เป็น Vijayalakshmi หรือแม้แต่เพื่อนหนุ่มๆที่อยู่ dorm เดียวกับ Rani ก็ตาม แต่ใน Queen เราก็ยังรู้สึกว่า Kangana Ranaut แบกหนังไว้ทั้งเรื่องอยู่ดี และนางก็เอามันอยู่จริงๆนะ ยิ่งฉากเมาปลิ้นเมาแประร้องไห้ร่ายยาวนี่ชอบมากๆเลย ดูแล้วรู้สึกว่า Rani ไม่ใช่ผู้หญิงสวยสะอะไรเลยจริงๆ นางสวยน้อยลงเมื่อเทียบกับเวลาไปออกงานปกติ สวยน้อยจนน่าตกใจเลยฉากนั้น ถึงจะไม่สวยก็เป็นคนที่น่าอยู่ใกล้ ดูมีเสน่ห์ เหลือเกิน ไม่ต้องมาเขิน .... เฮ้ย พอๆ ก่อนจะออกนอกเรื่อง นั่นแหละ คือนางเป็น Rani ได้แบบไม่มีที่ติเลย ถึงไม่ใช่คนสวยสะดุดตาแต่เสน่ห์กระจายมาก รู้สึกเป็นผู้หญิงที่น่าคบหา น่าเป็นเพื่อนด้วย ดูแล้วอยากมีเพื่อนแบบ Rani สักคน


Rani
                                                                                          Source

ไม่ว่าจะเพราะฝีมือการกำกับที่เคี่ยวเข้มงวดของ Vikas Bahl (ก่อนจะมาแป้กดังแอ้กลั่นๆกับ Shaandaar - ถ้าอยากอ่านรีวิวหนัง เอ่อ ... เห่ยๆ ก็บอกได้ จะเขียนให้) หรือเพราะการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ Kagana เอง มันก็ทำให้เธอคว้ารางวัล National Film Award หรือภาพยนตร์แห่งชาติประจำปี 2104 มาจนได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้ Queen เป็นหนังอินเดียจากฝั่ง Bollywood อีกเรื่องที่น่าหามาดูมาชมกันเป็นอย่างมาก






Wednesday, 7 September 2016

Gangoobai


กลับมาที่ฝั่ง Bollywood กันบ้างนะคราวนี้ แต่เราจะยังไม่พาไปรู้จักกับหนังใหญ่อะไร จะยังคงวนเวียนกับหนังฟอร์มเล็กอีกสักเรื่องก่อนแล้วกัน อยากให้ได้รู้ว่าหนังอินเดียโดยเฉพาะหนังฝั่ง Bollywood ที่เป็นหนังฟอร์มเล็ก ไม่มีดาราที่เป็นที่รู้จักมาดึงดูด แต่เป็นหนังที่มีพล็อตน่าสนใจนั้นมีเยอะมากเลย และหนังที่จะแนะนำวันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่เข้าข่ายนี้

Gangoobai-poster
                                                          Source

Gangoobai เป็นหนังที่พูดถึงคุณป้าแก่ๆคนนึงที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านคนมีฐานะในต่างจังหวัด มีอยู่วันนึงที่คุณพ่อเจ้าของบ้านซื้อส่าหรีอย่างสวยเลยให้ลูกสาว เป็นส่าหรีจากแบรนด์ดังที่ไฮโซทั่วฟ้าอินเดียให้ความไว้วางใจเลือกหามาสวมใส่ มันเป็นส่าหรีผืนที่งามมาก สีน้ำเงินและมีลายปักด้วยมืออย่างดี คุณป้าก็เลยอยากได้บ้าง แล้วคุณป้าก็เริ่มทำงานเก็บเงินอย่างหนัก รับงานเยอะแยะมาก ทั้งทำความสะอาด ทำสวน ซักผ้ารีดผ้าอะไร ป้าแกทำหมดเพื่อที่จะเก็บหอมรอมริบเอาไว้ซื้อส่าหรีราคาแพงผืนนั้น หลังจากที่เก็บเงินได้ครบแล้วคุณป้าก็เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อไปซื้อส่าหรี และการผจญภัยในเมืองหลวงของคุณป้าก็เริ่มต้นขึ้น


                                                                                          Source

เราต้องยอมรับนะว่าเนื้อเรื่องมันดึงดูดความสนใจเรามากเลย ในความรู้สึกของคนไทยที่เข้าใจว่าคนอินเดียมีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะกัน การที่คนระดับคนใช้จะเก็บเงินเพื่อไปซื้อของแบรนด์แบบที่คนรวยๆเขาใช้กันมันเลยกลายเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นมาได้ อาจจะเฉพาะเราคนเดียวหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราชอบ execution ที่หนังใช้ ถ้าเป็นหนังหรือละครไทยอาจจะเลือกนำเสนอที่ความเปิ่นความเชยของคนบ้านๆที่ต้องมาทำอะไรตามวิถีที่คนรวยๆเขาทำกัน แล้วคนก็จะขำจากความตลกตรงนั้น แต่ถามว่าในความเป็นจริงแล้วเราควรรู้สึกว่ามันน่าตลกขบขันเหรอกับการที่คนที่มีฐานะไม่สู้ดีนักจะเก็บเงินเพื่อซื้อสิ่งของที่คนมีกะตังค์เขาใช้กันหรือมีโอกาสได้ทำอะไรหรูๆแพงๆแล้วปล่อยไก่ออกมาบ้าง แต่ Gangoobai กลับเลือกที่จะไม่ look down คนพวกนั้น เขากลับทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดามากๆเลยกับการที่ป้าแม่บ้านสักคนจะเก็บเงินจำนวน 45 thousand รูปีไปซื้อส่าหรีแบรนด์แพงๆแบบลูกไฮโซ ไอ้ตรงเนี้ยมันทำให้เราดูแล้วรู้สึกว่าความเป็นคนมันเท่าเทียมกันดีนะ แม้ว่าป้าแกจะเป็นคนใช้ ซักผ้า ตากผ้า โกยขี้ม้าในคอก แต่เมื่อแกสามารถเก็บเงินได้ถึงราคาส่าหรีราคาแพงสักผืน แล้วเข้าร้านไปชี้ว่าฉันจะเอาผืนนี้ค่ะ จะยังมีใครหน้าไหนหรืออะไรมาขัดขวางแกทางชนชั้นได้อีก ตรงนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการทำตามความฝันของตัวเองแม้แต่เรื่องของชนชั้นก็ไม่อาจมีพลังเหนือกว่าได้ สมกับคอนเส็ปท์ dare to dream ที่โปรยไว้ในโพสเตอร์จริงๆ
                                                                                         
Gangoobai with designer
                                                                                          Source

แต่ข้อติที่มันตามมาจากข้อดีอันเมื่อกี้มันก็มีและจัดว่าใหญ่พอสมควรด้วย จะเล่าเนื้อเรื่องคร่าวๆเพื่อไม่ให้สปอยล์จนหมดสนุกแล้วกันนะ คือหลังจากที่ป้าแกไปที่ร้านส่าหรี แกก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีมากๆจากดีไซเนอร์และแวดวงไฮโซที่นั่น ซึ่งตรงนี้มันดูจะขัดกับสภาพความเป็นจริงของโลกไปหน่อยในความคิดเราน่ะ ไม่ได้จะบอกว่าคนรวยหรือไฮโซต้องหยิ่งยะโส ไม่ลดตัวลงไปเกลือกกลั้วกับคนระดับแม่บ้านหรือคนใช้อะไรแบบนั้นเลยนะ แต่ถ้าได้ดูจบแบบเราจะเห็นเองว่าคนพวกนั้นให้ความสนิทสนม ความไว้ใจ วางใจ กับป้าแกมากไป ทั้งๆที่เป็นคนที่เพิ่งรู้จักกัน ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าอะไรมากมาย แต่ทำดีด้วยอย่างชนิดที่ว่ายูเป็นคนดีมากๆ ไม่รังเกียจคนจากต่างชนชั้นเลย ดีเลิศประเสริฐศรีกันหมดทุกคนในที่ตรงนั้น อารมณ์ที่รู้สึกคือ too good to be true น่ะ เข้าใจเราใช่ปะ มันเกินจริงไปหน่อยอะเราว่า ไม่น่าจะโชคดีเจอแต่คนที่ดีหมดขนาดนั้น ไม่มีใครร้ายใส่เลย ดียันตอนจบอะ ดีจนต้องแปลกใจว่ากับคนที่เพิ่งเจอและไม่ได้ทำบุญทำคุณอะไรให้กันมาก่อนมันจำเป็นต้องดีต่อกันมากขนาดนี้เลยเหรอวะ เพื่อนก็ไม่ใช่ ญาติรึก็เปล่า อืม ต้องลองไปดูเองแล้วจะเข้าใจว่าเราไม่ได้ติเกินจริงไปคนเดียว

Gangoobai-money
                                                                                         Source

ถึงเนื้อเรื่องส่วนนึงจะดูเวอร์เกินไปอย่างที่พูดเมื่อกี้ แต่มันก็มีจุด conflict ในแบบที่เราคาดไม่ถึงเลยนะ คือไม่คิดว่าจะเลือกเอาจุดนี้มาเป็น conflict ของเรื่องอะ ก็คงต้องไปดูเองเพราะเราจะไม่บอกว่ามันคือตรงไหน และก็ยังมี sub plot ที่เฉลี่ยน้ำหนักของตัวละครให้ไม่น่าเบื่อด้วย น้ำหนักทั้งหมดไม่ได้เทไปที่การตามล่าหาส่าหรีราคาแพงของคุณป้าอย่างเดียว แต่มันเหมือนกับว่าการมาถึงของคุณป้าผู้เก็บเงินตามหาส่าหรีราคาแพงนั้นได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในแวดวงไฮโซในเรื่องอย่างไรบ้าง ต้องค่อยๆดูไปจนจบแล้วจะเข้าใจ หน้าหนังมันเหมือนจะตลกหรือชวนให้คนดูลุ้นไปกับการเก็บเงินซื้อส่าหรีไฮโซ ตอนแรกอาจจะคิดว่าจุดพีคอยู่ที่ฝ่าฟันจนได้ส่าหรีมาครองแล้ว happy ending ตรงนั้น แต่จริงๆเนื้อเรื่องพาร์ททำงานเก็บเงินจะสั้นมาก แล้วไปเทน้ำหนักอยู่ที่เนื้อเรื่องหลังจากป้าแกเข้ามุมไบมาแล้วแทน 

Gangoobai and friend
                                                                                         Source

และสิ่งที่ดีอีกหนึ่งอย่างคือการแสดง ดาราในเรื่องนี้เราไม่รู้จักสักคนเลย ไม่รู้จักขนาดที่ว่าแทบจะไม่ต้องแท็กชื่อยังได้เพราะไม่คิดว่าจะได้ดูหนังที่พวกเขาเล่นอีกแล้ว (แต่เอาจริงๆก็ต้องแท็กอยู่ดี ไม่งั้นจะไม่สมบูรณ์) ทุกคนแสดงได้มาก แม้เราไม่รู้จักมาก่อนแต่ทำให้เราสนใจหนังได้ อยู่ที่พล็อตและการแสดงจริงๆ ซึ่งทุกคนก็ไม่ได้แบบแอ็คติ้งทรงพลังอะไรมากมายขนาดนั้นเลยนะ แต่พอมันรวมออกมาแล้วมันน่าดูอะ มันละเมียดบอกไม่ถูก

Gangoobai with sari
                                                                                          Source

ถ้าจะให้สรุปหรือเชื้อชวนอะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ก็คงต้องบอกว่าดูเถอะถ้าอยากสนับสนุนหนังฟอร์มเล็กจาก Bollywood ดูเถอะถ้าชอบหนังฟีลกู้ดในแบบอินเดีย ดูเถอะถ้าหลงใหลในเสื้อผ้าสวยๆหรือส่าหรี เพราะขนาดหญิงไม่ใช่ ชายก็ไม่เชิงอย่างเรา ดูแล้วยังอยากจะมีส่าหรีไว้ในครอบครองเองสักผืนเลยละ






Monday, 5 September 2016

Ramdhanu

หลายคนที่ติดตามบล็อกเราคงจะได้เห็นเราพูดอยู่บ่อยๆว่าหนังอินเดียมักจะหยิบยกเอาเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัวที่ไม่มีใครคิดจะจับมาขยายประเด็นทำเป็นหนังมาทำเป็นหนังได้ เรื่องแบบนี้ของชำนาญของพี่เขาละ แล้วมันก็เป็นสเน่ห์ที่ทำให้เราตกหลุมรักหนังอินเดียอย่างถอนตัวไม่ขึ้นแบบนี้ด้วย และวันนี้เราจะแนะนำหนังอินเดียในอีกภูมิภาคนึงให้ลองหามาดูกัน

Ramdhanu-Movie
                                                                                                    Source

Ramdhanu เป็นหนังเบงกาลีที่หยิบยกเอาเรื่องการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าเรียนโรงเรียนประถมขึ้นมาพูดถึงในแง่มุมที่ตลกน่ารักตามประสาหนังครอบครัว ใครจะไปคิดว่าเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนจะถูกจับมาทำหนังได้น่ารักขนาดนี้ เรื่องนี้เพื่อนติ่งอินเดียด้วยกันแนะนำมา ฟังตอนแรกเหมือนจะเครียดนะ ตามประสาคนไม่อยากมีลูกมีภาระอย่างเรา นึกถึงเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะตัวเป็นเกลียวก็แทบกุมขมับแทนพ่อแม่ในเรื่องแล้ว แต่บอกได้เลยว่า Ramdhanu ไม่ได้เครียดขนาดนั้น เนื้อเรื่องคร่าวๆว่าด้วยครอบครัว Dutta ที่มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก คนพ่อเปิดร้านขายยา แม่เป็นแม่บ้าน และเจ้าหนูที่กำลังจะเข้าเรียนชั้นประถมมีชื่อว่า Gogol ด้วยความเป็นแม่อะเนอะ แถมจบป.โทด้วยซ้ำ นางเลยอยากให้ลูกชายคนเดียวได้เข้าเรียนโรงเรียนชั้นหนึ่งประจำรัฐ ก็เลยไปกดดันเอากับคุณผัวเจ้าของร้านขายยาให้หาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้ได้ ลามไปถึงกดดันเจ้าหนู Gogol ให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ลงทุนจ้างครูมาสอน สุดท้ายเจ้าหนูจะหาที่เรียนดีๆได้มั้ยก็ต้องไปลุ้นกันเอาเองละนะ


สิ่งที่เราชอบมากใน Ramdhanu ก็คือไอเดียที่จับเอาเรื่องราวใกล้ตัวของผู้คนมาเล่าเป็นหนัง ใครจะไปคิดว่ากะอีแค่การจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้ลูกหลานได้เข้าเรียนโรงเรียนระดับท็อปจะเอามาเป็นพล็อตหนังได้ มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้น่าติดตามมากๆเลยนะว่าเขาจะหยิบยกประเด็นที่แสนจะใกล้ตัวจนดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไรมากมายมานำเสนอในแง่มุมแบบไหน ซึ่งตรงนี้หนังก็ทำให้เราได้รู้ว่าระบบการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะของอินเดียจะต่างจากของบ้านเรามากพอสมควร เท่าที่เรารู้มานะ ของไทยเราจะระบุเป็นค่าบำรุงการศึกษา ค่าบริจาคสำหรับเครื่องใช้ไม้สอยหรือสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ร่วมกันในโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำการจ่ายเงินแบบขึ้นกับทางโรงเรียนโดยตรงเลย ไม่ว่าจะจ่ายให้ห้องการเงินหรืองุบงิบมุบมิบใต้โต๊ะกับบุคลากรฝ่ายบริหารของโรงเรียนก็ตาม แต่ของอินเดียไม่ใช่แบบนั้น จะเป็นการจ่ายเงินให้กับนายหน้า (ที่ก็มีอาชีพอื่นทำเป็นหลักแหล่ง - ในเรื่องเป็นเจ้าของโรงงานเย็บผ้า) หลังจากนั้นนายหน้าถึงจะพาไปฝากที่โรงเรียนให้ ผู้ปกครองไม่ได้ต้องไปดีลกับบุคลากรของทางโรงเรียนเองโดยตรง ใครที่อยากเข้าที่ไหนก็ต้องไปหานายหน้านี้ก่อน ฮีจะมีคอนเนคชั่นอยู่กับหลายๆสถาบัน และราคาก็ต่างกันด้วย เลือกเอาตามใจชอบว่าอยากจะเข้าที่ไหน แล้วก็หาเงินมาประเคนให้ฮีตามนั้นภายในวันที่กำหนด

Ramdhanu-Dutta-family
                                                                                                               Source

อีกจุดที่ชอบคือ casting ตัวละครพ่อแม่ลูกครอบครัว Dutta ดูเป็นพ่อแม่ลูกกันจริงๆ ดูเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่คนหล่อคนสวย เป็นคนที่มีชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตที่จับต้องได้ ชีวิตชนชั้นกลางที่ยังต้องดิ้นรนกับสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม สำหรับเรามันเรียลมากกว่าหนังที่นำเสนอเรื่องของคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสมบูรณ์พูนสุขดีอยู่แล้ว ตัวคุณพ่อเป็นชายร่างสันทัดและค่อนไปทางท้วม ดูเป็นคนอารมณ์ดีแต่ก็ไม่ได้ตลกอะไรตลอดเวลาจนน่ารำคาญ ส่วนคุณแม่ดูเป็นผู้หญิงที่สวยแบบบ้านๆ เป็นผู้หญิงที่เรียบๆไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ได้เรียบเป็นกุลสตรีอะไรนักหนา ส่วนน้อง Gogol นั้นน่ารักมาก ทั้งหน้าตา ทั้งการแสดง ดูแล้วเราเชื่อจริงๆว่าทั้ง 3 คนนี้คือพ่อแม่ลูกกัน ยิ่งฉากที่ทั้งสองคนเถียงกันเรื่องลูกนี่โคตรจะเรียลอะ เราไม่แน่ใจประวัติว่าทั้งสองคนแต่งงานมีลูกเต้ากันแล้วหรือยังนะ ถ้ายังนี่ถือว่าตีบทแตกมากๆ เล่นได้เข้าถึงหัวอกพ่อแม่ที่มีลูกวัยจะส่งเข้าโรงเรียนประถมมากเลย ที่สำคัญคือบทคุณพ่อนี่เล่นโดยผู้กำกับเองเลยแหละ ที่กำกับร่วมกันกะผู้กำกับหญิงอีกคน

Ramdhanu-Gogol
                                                                                                               Source

ส่วนตัวละครสมทบอื่นๆก็ดูจริงจังตามบท ทั้งครอบครัวข้างพ่อของ Gogol ที่ได้ไปใช้เวลาด้วยกันตอนปิดเทอม ทั้งผู้ปกครองเด็กๆในโรงเรียนติวที่มาจากหลายสารทิศ แต่คนที่เราชอบมากคือคุณครูเจ้าของโรงเรียนติวเพื่อการสอบเข้า Shining Star โรงเรียนนี้จะรับติวการวางตัวของผู้ปกครอง ทั้งการแต่งกาย กิริยามารยาท คนผัวต้องเลื่อนเก้าอี้ให้เมียนั่ง ตอบคำถามยังไง ต้องเตรียมหลักฐานแบบไหน พูดภาษาอังกฤษยังไง และสอนเด็กในแง่ความพร้อมซะมากกว่าที่จะติววิชาการเข้มๆ เราดูแล้วแบบเฮ้ย โรงเรียนที่สอนติวแบบนี้ดีมากๆ เราไม่มีข้อมูลนะว่ามันมีจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะในอินเดีย ในไทยเรา หรือประเทศไหนๆ แต่เราชอบคอนเส็ปท์ของโรงเรียนติวแบบนี้จัง คือมันดีอะ มันคือแนวคิดที่ถูกต้องที่ควรทำมากๆเลย ลองนึกว่าถ้าเราเป็นคนที่จะต้องสัมภาษณ์พ่อแม่และเด็กเพื่อรับเข้าเรียน มีสองบ้านที่เราต้องเลือก เด็กมีความสามารถพอๆกัน แต่บ้านนึงก่อนจะนั่งพ่อได้เลื่อนเก้าอี้ให้แม่ในขณะที่อีกบ้านไม่ได้ทำ แบบนี้บ้านที่พ่อรู้จักมารยาทสุภาพบุรุษนี่เอาใจเราไปเลยนะ แล้วคนที่รับบทเป็นคุณครูเจ้าของโรงเรียนนี่ก็ดูดีมาก ดีจนน่าจะไปเปิดโรงเรียนแบบจริงจังเลย ไม่ใช่แค่โรงเรียนติวแบบนี้ ดูแล้วก็นึกถึงครูใหญ่เราสมัยอนุบาลเลยแฮะ เราติดครูใหญ่มาก ครูเป็นผู้หญิงขาว สวย อวบนิดๆ มาดนักเรียนนอก ในห้องมีเปียโนหลังใหญ่ เราชอบไปขลุกอยู่ข้างๆเปียโนและครูก็เอานมกล่องมาให้เรากินด้วย ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วยังจำได้ไม่ลืมเลย

Ramdhanu-teacher
                                                                                                               Source

นอกจากนี้หนังยังแฝงข้อคิดบางอย่างไว้ด้วย เช่นเรื่องคุณค่าความงามของภาษาถิ่น คุณพ่อน้อง Gogol ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ ทางครอบครัวเลยกังวลว่าการจะพาน้องเข้าโรงเรียนดีๆอาจจะเป็นปัญหาถ้าพ่อแม่เด็กไม่ค่อยได้ภาษา แต่คุณครูเจ้าของโรงเรียนติวกลับชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ การที่เราพูดภาษาแม่ของเราโดยที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่เราคุยกันได้รู้เรื่องและพูดในสิ่งที่ดี แค่นี้มันก็เพียงพอแล้ว หรือเรื่องของการส่งลูกให้เรียนสูงๆ ลูกมีความเจริญก้าวหน้าสมใจ แต่ไปก้าวหน้าที่ต่างแดน ไกลกันหลายหมื่นไมล์ แถมไม่มีเวลาจะติดต่อพ่อแม่ที่แก่เฒ่า อย่างที่ครอบครัวเพื่อนบ้านของ Dutta ต้องเจอ สิ่งนี้ทำให้ครอบครัว Dutta อึนไปเหมือนกัน พร้อมๆกับเราคนดู และมันก็ทำให้พวกเขาคิดได้ว่าควรจะวางอนาคตของลูกชายยังไง

จุดที่จะขอติมีนิดเดียว เราว่าบทพูดของตัวละครบางตัวมันเกินจริงไปหน่อย ช่วงที่ Gogol ยังหาโรงเรียนไม่ได้ มันจะมีผู้ปกครองของเด็กบางคนที่สนิทกับตัวคุณแม่ ชอบมาพูดทำนองอวดเบ่งใส่ว่าเนี่ยนะ ลูกชั้นได้ที่นั่นที่นี่แล้ว ละก็ถามทำนองหวังดีประสงค์ร้าย (แบบเก็บข้อมูลไปเมาท์ต่อละมั้ง) ว่า Gogol ละได้ที่ไหนหรือยัง อ้าว ยังไม่ได้เหรอ จะทันเปิดเทอมมั้ยเนี่ย น่าสงสารจังเลย บลาๆ คือมันมีคนแบบนี้จริงๆเหรอวะ หรือว่าเราโลกสวยไป ไม่เคยเจอผู้ปกครองที่ชอบยกลูกตัวเองข่มลูกชาวบ้านตั้งกะเด็กแบบนั้น จบอนุบาลยังไม่ทันกี่วันเลย นี่มึงข่มกันยังกะเรียนระดับสูงๆหรือได้เหรียญโอลิมปิควิชาการมางั้นแหละ เราว่าหนังน่าจะไปแสดงความกดดันที่จุดอื่นได้มากกว่าตรงนี้ อันนี้มันดูเว่อร์ไปหน่อย อาจจะมีจริงๆแหละคนพรรค์นี้ แต่มันดูเชยอะมุกแบบนี้ เชยในความเว่อร์ น่าเบื่อ เลิกใช้เหอะ

Ramdhanu-poster
                                                                                                                         Source

Ramdhanu ในภาษาเบงกาลีแปลว่าสายรุ้ง ก็สมแล้วที่ตั้งชื่อหนังแบบนี้ เราได้เห็นความงดงามของเด็กน้อยวัยประถม ได้เห็นความรักบริสุทธิ์ของพ่อแม่ ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็พยายามทำทุกหนทางเพื่อมอบสิ่งดีๆให้แก่ลูก ซึ่งในเรื่องนี้คือการศึกษา เราได้เห็นภาพของครูอาจารย์ที่เข้าใจเด็กและเข้าใจโลก ต่างกับชีวิตจริงที่หาพบได้ยากมากในทุกวันนี้ ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดไปทำให้ Ramdhanu เป็นหนังอินเดียที่งดงามสมความหมายของสีรุ้งจริงๆ



Saturday, 3 September 2016

Manam

คราวนี้เรายังอยู่กันนอกวงการ Bollywood นะ และหนังที่จะมาแนะนำให้รู้จักกันคราวนี้เป็นหนังภาษา telugu (เตลูกู) ที่มีเรื่องราวว่าด้วยความรักแบบข้ามภพข้ามชาติ การกลับชาติมาเกิดใหม่แล้วรักกันอะไรแนวๆนี้แหละ เราคิดว่าเรื่องราวความรักสไตล์นี้ยังคงขายได้ดีทุกยุคทุกสมัยนะ ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละครจากประเทศใดก็ตาม งั้นคราวนี้เรามาลองสัมผัสรสชาติของหนังรักข้ามภพแบบอินเดียดูมั่งแล้วกัน

Manam
                                                                                                           Source

หนังเรื่อง Manam เป็นผลงานของตระกูล Akkineni ที่ได้ชื่อว่าเป็นตระกูลผู้ทรงอิทธิพลในวงการหนังเตลูกูเลยก็ว่าได้ มาเล่นกันตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และรุ่นลูกอีกสองหน่อด้วยกัน และผลงานเรื่องนี้ยังเป็นผลงานทิ้งท้ายวงการของคุณปู่ด้วย เพราะหลังจากที่การพากย์เสียงเสร็จสิ้นลง (ใช่ฮะ หนังอินเดียยังใช้ระบบพากย์เสียงอยู่) คุณปู่แกก็เริ่มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เอาละ เรามาดูเรื่องย่อกันดีกว่า


จากรูปภาพที่เห็นด้านบนนี่เราขอเริ่มอธิบายด้วยตัวคุณลุงใส่สูทดำก่อนแล้วกัน ลุงคนนี้เหมือนเป็นตัวกลางที่เป็นตัวเชื่อโยงคนทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน คือลุงคนนี้หรือชื่อจริงคือ Nagarjuna ค้นพบว่าพ่อตัวเองที่เสียไปแล้วตั้งแต่ลุงแกยังเด็กได้กลับชาติมาเกิดเป็นไอ้หนุ่มคนนั่งเก้าอี้นี่ รับบทโดย Naga Chaitanya ซึ่งเป็นลูกชายแท้ๆของลุงคนตะกี้ในชีวิตจริง ทีนี้มาถึงคุณปู่ที่นั่งพื้นบ้าง แกคือคุณปู่ใหญ่ Nageshwara Rao ของตระกูล Akkineni อย่างที่บอกไปข้างต้น ในเรื่องนี้แกจะรู้ว่าพ่อของแกที่เสียไปตั้งแต่แกยังเด็กๆได้กลับมาเกิดเป็นคุณลงสูทดำนั่น และคุณลุงก็เป็นลูกชายแท้ๆในชีวิตจริงของแกอีก ส่วนหนุ่มนั่งเก้าอี้ก็คือหลานชายจริงๆของปู่นั่นเอง ทีนี้เริ่มเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างในหนังแล้วใช่มั้ย มันเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ดำเนินซ้ำรอยกันระหว่างคนจากสองยุคไงละ น่าสนุกแล้วใช่มั้ยเอ่ย

Akkineni-in-Manam
                                                                                                                         Source

เรื่องมันเปิดที่ประวัติของครอบครัวลุงสูทดำตอนเด็กๆ เห็นภาพว่าพ่อแม่รักกันยังไง ตั้งแต่ฉากแต่งงาน ฉากเข้าหอที่มี fan service เล็กน้อย ถึงตอนเริ่มท้อง ตอนคลอดลูก สุดท้ายมาทะเลาะกันหนักในวันเกิดลูกชาย หนักถึงขั้นนัดไปหย่า จนในวันไปเซ็นใบหย่านั่นแหละที่เสียไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งคู่ พอคุณลุงโตขึ้นก็กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก มีวันนึงแกเดินทางกลับเมืองบ้านเกิดแล้วเจอกับไอ้หนุ่มคนที่ว่าบนเครื่องบิน ซึ่งลุงจำได้ว่าฮีมีปานที่เดียวกับพ่อตัวเองพอดี แล้วจริงๆลุงแกระลึกชาติได้ด้วยแหละมั้ง เมื่อตามหาพ่อเจอแล้วลุงจึงตามหาแม่ ก็ปรากฎไปเจอแม่เป็นนักศึกษาสาวในเมืองนั้นแหละ รับบทโดย Samantha Ruth Prabhu ตลอดเวลาลุงก็พยายามจะให้พ่อแม่ในชาตินี้ของตัวเองได้สมรสสมรักกันเหมือนในชาติที่แล้ว

Nagarjuna-and-Sam
                                                                                                                         Source

พักการเล่าเนื้อเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน มาชมการแสดงในช่วงแรกกันก่อนนะ เราชอบที่เอาผู้ใหญ่วัย 50 กว่าๆมาเล่นให้ง้องแง้งประจบคนอายุ 20 กลางๆเป็นพ่อแม่ มันน่ารักดีอะ กิมมิคแต่ละอย่างที่ใส่มาตั้งแต่ตอนเจอพ่อบนเครื่องบินมันน่ารักมาก ลุงพยายามจะเข้าไปใกล้ด้วยอาการโหยหาความอบอุ่นจากพ่อแต่ไอ้หนุ่มนั่นรำคาญแบบหลอนๆเหมือนกลัวโดนเกย์แก่ลวนลามอะไรทำนองนั้น แล้วตอนที่เจอแม่อีก พอรู้ว่าหอพักมหาลัยของแม่คุณภาพไม่ค่อยดีนักก็สั่งลูกน้องให้ไปปรับปรุงให้แม่ซะใหม่เอี่ยมชนิดหน้ามือเป็นหลังตีนเลย

Manam-Sriya-Nagarjuna
                                                                                                                         Source

วกกลับมาที่เนื้อเรื่องกันต่อ มีอยู่วันนึงลุงสูทดำแกก็เดินทางจะไปไหนสักที่นี่ละ แล้วอยู่ๆมีผู้หญิงคนนึง รับบทโดย Shriya Saran เรียกให้รถหยุดเพื่อที่จะนำคนป่วยกลางถนนมาขึ้นรถและขอให้พาไปส่งโรงพยาบาลที่เธอเป็นหมอประจำอยู่ ปรากฎว่าผู้หญิงสวยคนนี้เองคือคนรักในชาติที่แล้วของลุงแก และผู้ป่วยที่เป็นชายแก่ที่เธอนำมาขึ้นรถก็คือคุณปู่นั่นที่เป็นลูกของทั้งสองคนในชาตินั้นนั่นเอง เนื้อเรื่องส่วนที่เหลือเราคงไม่สปอยล์อะไรไปมากกว่านี้แล้วละนะ ถ้าเล่าอีกคงแทบหมดเปลือกเลย ไม่สนุกแน่ๆ ทิ้งให้ไปติดตามกันเอาเองดีกว่า

Manam-Sam-Chaitanya
                                                                                                                         Source

ที่จะขอชมต่ออีกอย่างก็คือหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกถึงการแสดงที่มีมิติมากขึ้นของ Chaitanya (ปกติชาวติ่งเรียกเขาว่าหน้าลิง) หนังเรื่องอื่นๆหน้าลิงมักจะเล่นเป็นวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้น ซึ่งบทก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย รักกันงอนกัน จัดว่าลูกกวาดและน่าเบื่อ ไม่อีกทีก็ดูขรึมและเน้นบทบู๊ รวมๆคือบทมีแต่ซ้ำๆซากๆอะ ไม่มีพัฒนาการศรีนครินทร์อะไรซ้ากนิด พอมาเรื่องนี้ได้เล่นเป็นพ่อคน แม้จะเป็นพ่อเด็กที่ยังไม่โตมากก็เหอะ มันก็มีความน่าสนใจขึ้นเยอะ ส่วนทั้งคุณลุงกับคุณปู่นั่นมีของเยอะอยู่แล้ว แทบไม่จำเป็นจะต้องกล่าวชมซ้ำ

Manam-Nagarjuna-Sam
                                                                                                                         Source

ในส่วนของฝ่ายหญิงก็ดีงามตามเนื้อผ้า แต่เราแอบรู้สึกว่า Shriya เจิดกว่า Sam มากอยู่สักหน่อย ออร่ามาเต็มมาก ณ จุดนี้ ยิ่งในพาร์ทปัจจุบันที่เป็นหมอนี่สวยตราตรึงสุดๆ อาจจะเป็นเพราะเธอผอมเพรียวกว่า มีหน้าตาที่ตรงสเป็คเรามากกว่าก็ได้ เลยรู้สึกว่าสะกดตาเราได้มากกว่า คือสวยทุกยุคอะ ทั้งยุคปัจจุบันและยุคย้อนอดีตที่เป็นสาวชาวนาเลย แต่เรื่องฝีมือนี่ต้องบอกว่ากินกันไม่ลง ไม่มีใครดีหรือแย่ไปกว่ากันนะ

Manam-movie
                                                                                                    Source
รวมๆแล้วหนังไม่มีจุดพีคที่แหวกออกมาแบบชัดเจน เป็นความพีคแบบเบาๆตามเนื้อเรื่อง แต่เป็นอะไรที่ทำให้เราอบอุ่นหัวใจมากๆ ใครที่ชอบดูหนังรักแนวข้ามภพข้ามชาติมารักกันนี่เราแนะนำให้หามาดูเลยนะ มันดีมากๆ กิมมิคดี กลายคลายปมก็ดี ไม่มีช่องโหว่ที่ดูแล้วต้องเลิกคิ้วเลย แล้วทุกคนก็เล่นดีมากจริงๆ ทำให้ Manam เป็นหนังรักจากฝั่่งใต้ที่เราประทับใจที่สุดเลยก็ว่าได้