Wednesday, 30 March 2016

Oh My Friend




สาเหตุนึงที่เราติดหนังอินเดียหนึบหนับคือหนังอินเดียหลายๆเรื่องเลือกที่จะเสนอประเด็นใกล้ตัวในแบบที่หาไม่ค่อยได้ในหนังฝรั่งและหนังไทย อย่างหนังอินเดียที่เราจะเอามาแนะนำในวันนี้ก็เหมือนกัน Oh My Friend เป็นหนังจากทางใต้ หนังภาษาเตลูกู นำแสดงโดย Siddharth Narayan และ Shruti Hassan ประเด็นของหนังเป็นเรื่องที่ถือว่าคลาสสิคมากสำหรับสังคมไทย (และอาจจะที่อินเดียด้วย) คือ "ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นเพื่อนกันได้จริงเหรอ?"

                                                                                                                                               Source


Chandu กับ Siri เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่ยังเด็กมาก เรียกว่าเห็น Chandu ที่ไหนก็ต้องเห็น Siri ที่นั่นเหมือนเงาตามตัว เวลาผ่านไปจนทั้งคู่เรียนจบ Chandu มีความใฝ่ฝันจะเป็นมือกีต้าร์ชื่อดัง แต่พ่อของเขาไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่เพราะเขายังดูไม่เป็นโล้เป็นพายเท่าที่ควร ก็ได้ Siri นี่ละที่คอยกระตุ้นให้ทำนั่นทำนี่อีกแรง ส่วน Siri เองก็มีแพลนที่จะแต่งงานกับคู่หมั้นผู้ตั้งรกรากในอเมริกา จนวันนึง Chandu ไปเจอกับเพื่อนเก่าสมัยประถมที่ชื่อ Ritu ก็เกิดหลงรัก โตเป็นสาวแล้วสวยมากๆ หลังจากที่ Ritu รับรักเขาแล้วทุกอย่างก็หวานชื่นมาก อย่างที่รู้ๆกันว่าเวลาคนเรามีแฟนก็จะห่างจากเพื่อน Chandu ก็เป็นแบบนั้น จน Siri มีอาการคล้ายๆจะหึง และเมื่อถึงเวลาที่ Chandu จะต้องไปออดิชั่นครั้งสำคัญในชีวิต Siri ก็ยังตามไปเป็นกำลังใจและให้ความสำคัญมากทั้งๆที่คู่หมั้นตัวเองและ Ritu ก็ตามไปด้วย แต่ด้วยความสนิทสนมกันของทั้งคู่ก็ทำเอาคนอื่นๆเช่นเพื่อนร่วมวงหรือคนร่วมออดิชั่นพากันเข้าใจผิดไปหมดว่าทั้งสองคนเป็นแฟนกัน และจากจุดนั้นเองความลำบากใจของทุกฝ่ายก็เกิดขึ้น เรื่องราวจะจบยังไงคงต้องไปดูเอาเองนะ เราไม่สปอยล์เด็ดขาด

                                                                                                                     Source

สิ่งที่เราชอบมากๆใน Oh My Friend คือการที่เอาคำถามคลาสสิคที่คนทั่วทุกมุมโลกต่างก็ตั้งคำถามนี้ผ่านหลายยุคหลายสมัยมาทำเป็นพล็อตหลัก ส่วนตัวไม่เห็นหนังฝรั่งหรือหนังไทยที่พูดถึงประเด็น "ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นเพื่อนกันได้จริงเหรอ?" มานานมากแล้ว หนังหลายๆเรื่องอาจจะพูดถึงการแอบรักเพื่อนสนิทก็จริงแต่ไม่ค่อยมีเรื่องไหนตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้เลย ขณะที่ Oh My Friend เลือกที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา 

Oh My Friend - cast
                                                                                                                                                         Source

ต่อยอดมาจากเมนไอเดียในย่อหน้าที่แล้ว สิ่งดีงามตามท้องเรื่องที่ไม่ชมไม่ได้คือการใช้ไดอะล็อกที่บีบคั้นอารมณ์คนดูให้คล้อยตามได้อย่างแยบยล กับโจทย์ตั้งต้นที่ว่า "ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นเพื่อนกันได้จริงเหรอ?" หนังใช้ไดอะล็อกหลายๆอย่างที่ทำให้คนดูเอะใจและตั้งคำถามว่าหรือ Siri จริงๆแล้วนางแอบรักพระเอกวะ หรืออิสองตัวนี้มันรักกันอยู่ลึกๆแต่มันไม่รู้ตัววะ เราเชื่อเลยว่าไม่ว่าใครที่ได้ดูจะต้องเกิดความรู้สึกแบบนั้นแน่ๆ และไดอะล็อกหลายๆจุดก็มีอะไรที่จี้ใจคนที่มีเพื่อนสนิทต่างเพศอย่างเรามากๆ ตอนนั้นสถานการณ์มันสุกงอมเต็มที่ ทุกๆคนรอบตัวต่างคิดว่า Siri กับ Chandu รักกันแต่ต่างคนต่างไม่เข้าใจหัวใจตัวเอง พ่อแม่ของ Chandu ก็เลยเรียกเด็กทั้งสองคนมาคุย พ่อพูดทำนองว่าให้คิดดีๆว่ารักกันมั้ย ถ้ารักกันก็พร้อมที่จะจัดการให้ ไม่ได้จะว่าอะไร แต่ปล่อยไว้นานกว่านี้คงไม่ดีแน่ จะมีคนลำบากใจกันหลายฝ่ายนะลูก แต่ Chandu บอกกับพ่อและแม่ว่า พ่อกับแม่นั้นอาจจะเกิดมาในยุคที่ผู้หญิงกับผู้ชายไม่อาจจะเป็นเพื่อนกันได้สนิทใจ ในชีวิตคนๆหนึ่งยุคโน้นถ้าจะสนิทกับคนต่างเพศคนไหนนอกครอบครัวเดิมของตัวก็คงจะเป็นสามีหรือภรรยาของตัวเอง แต่กับเด็กยุคผมมันไม่ใช่ ผมสนิทกับ Siri มาตั้งแต่เด็ก กิน เล่น นอน มาด้วยกัน แชร์ทุกๆโมเมนท์สำคัญชองชีวิตมาด้วยกันตลอด ทั้งสุข เศร้า เหงา ปัญหาต่างๆ เราแชร์กันทุกอย่าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่คิดจะแชร์กับเธอเลยก็คือเตียง ให้ตายเถอะ ผมนอนกับเธอไม่ได้จริงๆ ไม่มีทางทำได้ และผมก็รัก Ritu มาก รักคนละแบบกับความรักที่มีให้ Siri ที่เป็นรักแบบมิตรภาพ โหยยย เป็นไดอะล็อกที่รัวยาวๆและโดนใจมาก

Siddharth

                                                                                                                                                        Source

ในส่วนของแอ็คติ้งก็ไม่เลวเลย Siddharth เป็นนักแสดงที่ดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่สำหรับ Shruti เราชอบผลงานเรื่องนี้ของเธอมากกว่าหลายๆเรื่องที่เคยได้ดู สำหรับเราคือตีบทแตกน่ะ เป็นเพื่อนที่รักเพื่อนแบบบริสุทธิ์ใจจริงๆ แต่ก็ต้องเล่นออกมาให้คนดูสับสนด้วยว่าตกลงมีการแอบรักมากกว่าเพื่อนเกิดขึ้นหรือเปล่า เราว่ามันไม่ใช่ง่ายๆนะที่จะทำออกมาให้สื่อสารได้ชัดเจนน่ะเพราะมันเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนมากที่จะถ่ายทอด นักแสดงสมทบคนอื่นๆก็ถือว่าสอบผ่านอยู่ อย่าง Hansika Motwani ที่รับบทเป็น Ritu ก็น่ารักหน้าหวานแบบสาวอวบดี 

Hansika Motwani                                                                                                                                                         Source


แต่สิ่งที่จะขอติก็คือฉากและเสื้อผ้า หน้า ผม มันดูสะเหล่อกะเร้อกะรังในหลายๆฉาก คือเนื้อหา บท ไดอะล็อก และแอคติ้งปูทางกันมาดีแล้วนะ งานเนี้ยบเฉียบขาดเลย มาตกม้าตายเอาที่เรื่องพวกนี้ได้ยังไงไม่รู้ ใจนึงไม่อยากจะโทษว่าเป็นธรรมดาของหนังใต้ คนใต้มีรสนิยมอันเฉพาะตัวที่ฉูดฉาดหรือแปลกๆ ไม่เข้ากับนิยามความสวยงามแบบสากลอย่างที่หนังบอลลีวู้ดหรือทั่วโลกเขามีกัน มันก็พอเข้าใจได้แหละเพราะหลักๆเขาก็ทำขายคนของเขา ไม่ได้ตั้งใจทำขายทั่วโลกซะหน่อย แต่ด้วยความหงุดหงิดลูกตาก็เลยขอตัดคะแนนในส่วนนี้เยอะหน่อยแล้วกัน ไม่รู้สิ แค่หน้าตา แอ็คติ้ง และการเล่าเรื่องของทางใต้เราว่าก็มีเอกลักษณ์พอตัวแล้วนะ อย่าเอารสนิยมเสื้อผ้า หน้า ผม หรือฉากแบบแปลกๆมาเป็นอีกส่วนนึงของเอกลักษณ์ที่อาจจะมีคนมองในแง่ลบดีกว่า 

Oh My Friend
                                                                                                                                                        Source

ท้ายสุดนี้เราแนะนำให้ทุกคนที่มีแฟนแล้วแฟนมีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างเพศหรือคนที่มีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างเพศแล้วตัวเองมีแฟนหา Oh My Friend มาดูนะ ดูเป็นตัวอย่างไว้ว่าในฐานะที่เราเป็นแฟน เป็นคนที่เข้ามาในชีวิตแฟนเราทีหลังเพื่อน เราควรวางตัวเองไว้จุดไหน หรือเรามีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างเพศกับเรา เราควรจะจัดการยังไงไม่ให้แฟนเราไม่สบายใจ ของแบบนี้มันแล้วแต่คู่ ไม่ได้มีอะไรตายตัวหรอก แต่ในสังคมไทยแล้วเรามองว่าคนที่อยู่ในฐานะแฟนบางทีเรียกร้องความสำคัญมากไป โดยลืมไปว่าตัวเองคือคนที่เข้ามาในชีวิตแฟนหลังจากเพื่อนเขาคนนั้นซะอีก ผ่านทุกผ่านสุขด้วยกันมาก็น้อยกว่ามาก ก็ควรต้องคิดถึงตรงนี้ด้วย ความสัมพันธ์จะได้ยืนยาว



ปล. เริ่มต้นเป็นรีวิวหนัง ตอนจบไหงเป็นคลับฟรายเดย์ไปได้




Thursday, 24 March 2016

Highway

ติดตามหนังอินเดียมาก็นานแต่เพิ่งจะพบกับหนังแนว road movie ที่ทำให้เรารักได้มากขนาดนี้ จริงๆก็ตั้งแต่สมัยดูหนังฝรั่งแล้วแหละ มีหนัง road movie หลายเรื่องมากที่ผ่านตาแต่ก็ไม่ได้ทำให้เราติดใจเท่าไหร่ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะมาแจ็คพ็อตเอาที่หนังอินเดียอย่าง Highway นี่

Highway
                                                           Source

Highway แปลว่าทางหลวงและเรื่องราวทั้งหมดของหนังก็เริ่มต้นจากทางหลวงแห่งหนึ่ง เนื้อเรื่องเริ่มที่ Veera หญิงสาวลูกนายตำรวจใหญ่ที่กำลังจะกลายเป็นเจ้าสาวในอีกวันสองวันได้โทรนัดกับว่าที่เจ้าบ่าวของเธอให้ขับรถมาหาที่บ้าน จากนั้นพากันออกไปขับรถเล่นกินลม ขับรถกันอยู่สักพัก ว่าที่เจ้าบ่าวเห็นว่าสมควรแก่เวลากลับแล้ว แต่ Veera ยังไม่อยากกลับบ้าน เธอต่อรองขอให้เขาขับไปตรงทางหลวงข้างหน้าอีกนิด ซึ่งเขาก็ตกลงอย่างว่าง่ายพร้อมกับบอกว่าพอขับจนถึงจุดกลับรถแล้วก็จะแวะเติมน้ำมันก่อน จากนั้นจะพาไปส่งที่บ้านเลย ในระหว่างที่แวะจอดเติมน้ำมันที่ปั๊มร้างๆนั้นเอง ก็มีคณะโจรนำทีมโดย Mahabir ออกมาปล้นมินิมาร์ทในปั๊ม และลากเอา Veera ที่เดินลงมาจากรถเพื่อยืดเส้นยืดสายเอาไปเป็นตัวประกัน ฮีลากแบบถูลู่ถูกังขึ้นรถกระบะไปด้วยเลย โดยที่อิตาว่าที่เจ้าบ่าวได้แต่ยืนมองตามตาปริบๆเพราะทำอะไรไม่ได้

Randeep as Mahabir
                                                                                          Source

Mahabir เป็นโจรที่มีบุคลิกเงียบๆ ไม่โหวกเหวกโวยวาย ดูโหดแต่นิ่ง เขาพา Veera ติดตามไปกับเขาและแก๊งค์ เดินทางด้วยรถบรรทุกไปในหลายๆที่เพื่อหลบหนี โดยที่ตั้งใจว่าจะเอาเธอเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของเธอ แน่ละ เขาไม่รู้ว่าเธอคือลูกสาวตำรวจใหญ่ ระยะเวลาของการเดินทางได้ทำลายกำแพงระหว่าง Mahabir กับ Veera ลงทีละน้อย นิสัยช่างพูดช่างคุยของ Veera ในตอนแรกอาจจะทำให้ Mahabir นึกรำคาญอยู่บ้าง แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆเขาก็เริ่มชินกับมัน ส่วน Veera เองก็กลับรู้สึกสบายใจอย่างน่าประหลาด ไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองตกระกำลำบากในฐานะตัวประกันสักนิด มิหนำซ้ำเธอยังกล้าเล่าความลับดำมืดของชีวิตที่เป็นเหมือนตราบาปให้เขาฟังอีก

Veera and Mahabir
                                                                                          Source

ความลับของ Veera ก็คือเธอถูกญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเรื่องแดงขึ้นคนในครอบครัวแม้แต่พ่อแม่ของเธอกลับไม่ทำอะไรเลย ซุกปัญหาไว้ใต้พรมซะอย่างงั้น ไม่มีการลงโทษชายแก่ตัณหากลับคนนั้น มีแต่บอกให้เธอลืมฝันร้ายครั้งก่อนไปซะและมีความสุขกับชีวิตดี๊ดีของการเป็นลูกสาวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เฮ้ย มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกนะ สิ่งนี้ยังคงมีในทุกสังคมจากทั่วทุกประเทศ เราเชื่ออย่างงั้นนะ แต่ไม่มีใครที่จะปลงใจกับความหน้าบางแล้วออกมาป่าวประกาศถึงความชั่วร้ายของผู้ชายตัณหากลับในครอบครัวตัวเอง ในเรื่องไม่ได้บอกไว้ว่า Veera มีอายุเท่าไหร่ แต่เราเชื่อว่าเธอต้องทนกับความรู้สึกบัดซบอันนี้อย่างน้อยๆ 15 ปีแน่นอน และเมื่อเธอมาเจอคนที่สามารถที่จะรับฟังเธออย่างนิ่งๆ ไม่ซักถาม ไม่หืออือซะจนบางทีเหมือนไม่สนใจด้วยซ้ำ เธอจึงเลือกที่จะระบายความอัดอั้นออกมาอย่างหมดเปลือก และจุดนั้นเองที่เธอปล่อยโอพร้อมโผเข้ากอดเขา ทำให้เราได้เห็นมุมอ่อนโยนของ Mahabir เป็นครั้งแรก มันเป็นแววตาที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมอันบัดซบของผู้หญิงคนนึงที่เขาเพิ่งรู้จัก มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เขาช่วยอะไรไม่ได้มากไปกว่าการรับฟังเธอระบายอย่างโหยไห้ และเหตุการณ์นี้มันก็ทำให้เราได้เข้าใจว่าทำไม Veera ถึงดูมีความสุขนักแม้จะตกที่นั่งตัวประกันอย่างนี้ เพราะชีวิตที่รอนแรมไปบนรถบรรทุกกับ Mahabir นั้นเป็นชีวิตที่มีไม่อดีตอันน่าบัดซบตามมาหลอกหลอนนี่เอง ทุกที่ที่เธอไปเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่เธอสามารถเป็นตัวของเองอย่างมีอิสระได้เต็มที่ บวกกับบรรยากาศดีๆตามรายทางที่ไป คนดูอย่างเราๆอยากให้ทุกอย่างมันดำเนินต่อไปแบบนี้ไม่มีจุดจบ Veera ไม่ต้องกลับบ้านไปแต่งงาน ส่วน Mahabir ก็ไม่ต้องออกปล้นหรือทำเลวอะไรต่อไปอีก

Alia as Veera
                                                                                          Source

มาถึงตรงนี้เราต้องชม Alia Bhatt กับบทบาทที่โตขึ้นเลยนะ ในหนังเรื่องแรกที่เธอเปิดตัวอย่าง Student of the Year ดูเป็นหนังวัยรุ่นใสๆไม่มีอะไรมาก เหมือนไม่ได้แสดงฝีมืออะไรเท่าไหร่ เป็นนางเอกหน้าสวยประดับหนังเท่านั้นเอง แต่กับ Highway นี่เรียกได้ว่าตัวละครมีการพัฒนาสูงมาก ซับซ้อน ต้องเจอเรื่องราวแย่ๆมากมาย เป็นการพิสูจน์ฝีมือของเธอได้ดีเชียวแหละ จากตอนแรกที่ได้ดู SOTY เราก็คิดว่านางเอกคนนี้หน้าแปลกๆนะ ไม่แขก ไม่ฝรั่ง แถมยังดูแหยๆพิกล ฝีมือก็งั้นๆ ถึงไม่ห่วยแตกแต่ก็ไม่ได้ดีเด่อะไรมากมาย มาดู Highway นี่ต้องถอนคำพูดเลยละ เธอทำให้เราเชื่อว่าเธอคือ Veera จริงๆ ทั้งด้วยอายุ ด้วยบุคลิก และเรื่องราวในเรื่องที่ต้องเผชิญ เราคิดว่าคงไม่มีใครเหมาะกับบทนี้มากไปกว่าเธอแล้วจริงๆ คงต้องขอบคุณ Imtiaz Ali ผู้กำกับด้วยที่คงจะเคี่ยวงานจนออกมาได้ดีขนาดนี้

Veera and Mahabir
                                                                                          Source

พระเอกในคราบผู้ร้ายเองก็มีเสน่ห์เป็นที่สุด ก่อนหน้านี้เรารู้จัก Randeep Hooda มาบ้างนะ คุ้นเคยว่าเล่นหนังเป็นตัวร้าย ถ้าเป็นพระเอกก็ออกแนวบู๊ๆหน่อยและมักได้นัวเนียสาวทั้งเรื่อง แต่กับเรื่องนี้มันมีความดราม่าในคาแร็กเตอร์อยู่มาก มีความลึกกว่าเก่า ได้เห็นมุมอ่อนโยนที่ซ่อนอยู่ภายใต้ลุคร้ายๆของโจร ทำเอาเราหลงเสน่ห์ไปเลยแหละ จากที่ดู Highway เรื่องเดียวทำเอาเราต้องไปกว้านหาหนังที่ฮีแสดงมาดูทุกเรื่อง (ดูแล้วก็แอบน้อยอกน้อยใจที่ฮีน่าจะดังได้กว่านี้อีกมากๆ) แต่เรื่องที่ดูแล้วชอบที่สุดก็ยังคงเป็น Highway อยู่ดี Mahabir เป็นโจรที่มีเสน่ห์มากจริงๆ ถ้าเป็นเราโดนจับไปแบบนั้นมั่งก็คงไม่อยากกลับเหมือนกัน เจ้าบ่งเจ้าบ่าวลืมหมด

Veera
                                                                                          Source

อีกจุดที่เราชอบคืองานเพลงประกอบที่ได้โพรดิวเซอร์ชื่อดังอย่าง A.R. Rahman มาทำให้ (สำหรับคนที่ไม่รู้จัก เขาคนนี้ที่ทำให้ Jai Ho เพลงประกอบ Slumdog Millionaire ดังเป็นพลุแตกมาแล้ว) เพลงทั้งหมดเข้ากับบรรยากาศของเรื่องและวิวทิวทัศน์มาก ดูเพลินที่สุด สำหรับคนที่ไม่ชอบฉากเต้นเพลงเต้นในหนังอินเดียก็สามารถดูได้แบบไม่รำคาญเลย

Veera and Mahabir
                                                                                          Source

ยิ่งนานวันที่เดินทางด้วยกันบนรถบรรทุกก็เหมือนยิ่งทำให้ Veera กับ Mahabir ผูกพันกันมากขึ้น พร้อมๆกันกับที่เราได้รับรู้ความเป็นมาเป็นไปของเขามากขึ้นด้วย Mahabir เหมือนคนที่ตกกระไดพลอยโจนจนต้องมาเป็นโจรแบบทุกวันนี้ เหมือนขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ ต้องขี่ต่อไปให้สุดทาง เขามีแม่ที่เขารักมาก แต่ก็ไม่ได้กลับไปเจอแม่นานแล้ว ทั้งรักทั้งคิดถึง แต่ก็ไม่กล้าบากหน้ากลับไปทั้งๆที่เป็นคนร้ายแบบนี้ Veera ได้ยินแบบนั้นก็สงสาร ตั้งใจว่าพอเรียกค่าไถ่ได้แล้วจะพาเขากลับบ้านไปหาแม่ เอาเงินก้อนนั้นไปตั้งตัวและเลิกเป็นโจรซะ อาการที่ Veera เป็นตอนนี้อาจจะตรงกับสิ่งที่เรียกกันว่า Stockholm Syndrome มันคืออาการของคนที่เป็นตัวประกันหรือเชลยเกิดมีความรู้สึกเห็นใจคนร้ายหลังจากที่ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันพักหนึ่ง และอาจจะลงเอยด้วยการแสดงออกปกป้องคนร้ายหรือกลายเป็นพวกเดียวกันไปในที่สุด โดยที่ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากการข่มขู่หรือทำร้ายอะไรเลย มองเผินๆอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับเราคิดว่าคงไม่ใช่ Veera รู้สึกไว้ใจที่จะบอกความลับของตัวเองให้กับ Mahabir ฟัง เธออยากให้เขาเลิกทำสิ่งไม่ดีและกลับตัวกลับใจซะใหม่ กลับบ้านไปหาแม่ ไปเป็นลูกที่น่ารักคนเดิมของแม่ ในตอนที่ทั้งคู่เดินทางไปถึงภูเขาอะไรสักอย่างแล้วพบกันบ้านบนเขา เธอดูแลเขา หุงหาอาหาร พยายามทำทั้งๆที่เป็นคุณหนู ชีวิตเคยมีแต่คนทำให้ตลอด แต่เธอกลับเต็มใจที่จะบริการเขา ห่มผ้าให้ด้วย Veera ดีและน่ารักกับเขามากซะจน Mahabir อดสูใจว่าตัวเองไม่ควรได้รับสิ่งดีๆแบบนี้จากเธอหรือจากใครทั้งนั้น แม้กระทั่งตอนที่ครอบครัวของเธอตามมาเจอในที่สุด ทุกๆคนก็ยังคิดว่าสิ่งที่เธอเป็นมันคือ Stockholm Syndrome แน่นอน แต่ไม่รู้สินะ จากสิ่งที่เธอเป็นและทำทั้งหมดในตลอดช่วงเวลาที่เธออยู่กับเขา ... เราเรียกสิ่งนั้นว่าความรักว่ะ




Wednesday, 23 March 2016

English Vinglish

พวกเรารู้กันดีว่าอินเดียเป็นประเทศที่สามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้อย่างชำนาญพอตัว และในทุกวันนี้ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาที่สำคัญมากที่สุดภาษานึงของโลกไปแล้ว เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกอะไรที่จะมีหนังอินเดียสักเรื่องหยิบยกเอาประเด็นภาษาอังกฤษขึ้นมาพูดถึง ซึ่ง English Vinglish เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวธรรมดาของการหัดพูดภาษาอังกฤษให้มีประเด็นขึ้นมาได้อย่างน่ารักและน่าจับใจ ถือว่าเป็นประเด็นแปลกใหม่ในวงการหนังเลยก็ว่าได้ และสำหรับคนไทยหลายๆคนที่เชื่อว่าคนอินเดียจะสามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้อย่างดีไปซะหมด ถ้าได้ดูหนังอินเดียเรื่องนี้ก็คงจะต้องปรับมุมมองใหม่เหมือนกัน

                                                          Source

อย่างแรกที่จะต้องพูดถึงเลยก็คือหนังเรื่องนี้ถือเป็นการกลับมาของ Sridevi ที่ปังสุดๆไปเลย หลังจากที่ห่างหายจากจอเงินไปนับสิบปีเพื่อไปเลี้ยงลูก กลับมาคราวนี้เธอไม่ทำให้ผิดหวัง สวยกว่าเก่า ขนาดร้องไห้ยังโคตรสวยอะ สาวกว่าเก่า หุ่นดีกว่าเก่า ดูน่าหลงใหลเป็นที่สุด และแน่นอนว่าเธอรับบทเป็น Shashi นางเอกของหนังเรื่องนี้

Sridevi



Shashi เป็นแม่บ้านลูกสองอยู่ที่อินเดีย เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ออกเสียงแปลกๆอยู่ตลอด จนลูกและผัวล้อเลียนหัวร่อกันสนุกปาก พูดง่ายๆว่ามันกลายเป็นปมที่ทำให้ลูกสาวเสื่อมความนับถือในตัวแม่ ส่วนตัวเราไม่ใช่คนหัวเก่าที่คิดว่าลูกห้ามแตะพ่อแม่หรือต้องเคารพสุดใจขาดดิ้นอะไรขนาดนั้นนะ แต่สิ่งที่อีลูกทำกับตัวแม่แล้วหงุดหงิดมาก คือคนในครอบครัวมันไม่ควรจะทำแบบนั้นต่อกันหรือเปล่าวะ ต่อให้เป็นพี่เป็นน้องก็ไม่ควร ความจริงแล้วไม่ควรมีใครทำบ้าๆแบบนี้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยซ้ำ และทั้งๆที่เธอใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่องอย่างนี้ เธอกลับมีอันจะต้องเดินทางไปช่วยพี่สาวเตรียมงานแต่งที่อเมริกา หลานสาวของเธอกำลังจะแต่งงานกับหนุ่มเมกันคนนึง

                                                                                         Source

หลังจากเหยียบดินแดนแห่งเสรีภาพแล้วปัญหาจากการพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ตามมาเป็นเงา ทั้งหน้าแตกที่ร้านกาแฟ ทั้งหวาดกลัวผู้คน ในที่สุด Shashi ก็ตัดสินใจลงเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นที่สถาบันสอนภาษาแห่งนึงที่เธอเห็นโฆษณาจากข้างรถเมล์ ณ ที่แห่งนั้นเธอได้พบมิตรภาพจากเพื่อนผู้ศึกษาภาษาอังกฤษเหมือนๆกับเธอหลายคน รวมทั้งมิตรภาพและความรูจากคุณครูด้วย กลุ่มเพื่อนในชั้นเรียนของ Shashi เป็นอีกจุดที่ดีงามในหนังเรื่องนี้เลยแหละ ทุกๆคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างคนก็ต่างที่มา แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้อยู่รอดในอเมริกา

                                                                                        Source
  • Laurent เชฟร้านอาหารฝรั่งเศสผู้แสนดี แอบหลงรัก Shashi และพยายามจีบอย่างจริงจัง
  • Rama หนุ่มอินเดียที่ทำงานในบริษัท IT ผู้โดนปรามาสจากเพื่อนร่วมงานว่าภาษาอังกฤษห่วย
  • Lu ช่างทำผมสาวชาวเกาหลีที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับหนุ่มปากีในคลาสเดียวกัน
  • Salman หนุ่มปากีคนที่ว่า มีอาชีพขับแท็กซี่ แถมนามสกุล Khan ด้วยนะ
  • Eva สาวเม็กซิกันร่างท้วมแสนร่าเริงที่เข้ามาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก
  • Udumbke หนุ่มผิวดำผู้เงียบขรึมจนคนคิดว่าเป็นใบ้ ชอบนั่งคนเดียวหลังห้อง

Sashi and her classmates
                                                                                                                          Source

และจะไม่พูดถึงคุณครูก็คงไม่ได้ ครูประจำคลาสของ Shashi มีชื่อว่า David เห็นแต่ทีแรกก็รู้เลยว่านางเป็นเกย์ออกสาว หนังก็เลยใช้โอกาสนี้เล่นประเด็นของ LGBT มันซะเลย แถมทำออกมาได้น่าประทับใจด้วยสิ คือมีวันนึงก่อนเข้าคลาสนักเรียนนั่งเมาท์กันว่าครูเพิ่งเลิกกับแฟนมา แล้วอิตาปากีฯก็ดันปากเสียว่าเป็นเกย์นี่ไม่ดีเลยนะ พวกเพื่อนในห้องก็วี้ดๆใส่ฮีไป แล้ว Shashi ก็อธิบายทำความเข้าใจอย่างเยือกเย็นว่าเป็นเกย์แล้วมันแปลกตรงไหน เราก็คนเหมือนกัน มีเลือดเนื้อมีความรู้สึกไม่ต่างกัน อกหักก็เจ็บปวดเหมือนๆกันนี่แหละ แล้วกล้องก็ตัดฉับไปที่ Laurent อะโหยยย หวานใจแสดงทัศนะอันน่าปลื้มปริ่มเยี่ยงนี้ ฮีก็อมยิ้มแก้มปริไปสิจ๊ะ

                                                                                         Source

อีกประเด็นที่หนังจับมาเล่นก็คือประเด็นผัวกดเมีย อิตัวผัวของ Shashi ชอบพูดอยู่บ่อยๆว่าเธอเกิดมาเพื่อทำขนมลัดดู ฟังๆก็เหมือนจะยกย่องนะว่าเธอทำขนมนั่นอร่อยเป็นบ้า แต่อีกนัยนึงมันก็เหมือนตีค่าเมียแค่นั้นเองว่ามีค่าแค่ทำขนมขายไปวันๆ ไม่สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้ นอกจากนี้ฮียังแสดงท่าทางที่เหมือนจะดูถูกเมียตัวเองหลายๆอย่าง เช่นตอนที่เตรียมตัวตอบคำถามตม.ขาเข้า พอเมียพูดตะกุกตะกักหน่อยก็เอ็ดตะโรซะยังกะอะไรดี แล้วยิ่งพอ Shashi มาเจอหนุ่มฝรั่งเศสผู้แสนดี แถมยังหนุ่มกว่า หล่อกว่า attitude ดีกว่าอิผัวเดิมเป็นกอง เราเลยยุให้เลิกไอ้ผัวเฮงซวยนั่นซะแล้วไปคบกันแทน ผู้หญิงคนไหนได้ดูขอท้าเลยว่ายังไงก็ต้องคิดแบบเรา

                                                                                         Source

การแสดงดีงามตามท้องเรื่อง วิวของนิวยอร์กก็สวยด้วย เพลงประกอบก็มีพอน่ารัก มีเพลงเต้นปิดท้ายหนึ่งเพลงเพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นหนังอินเดีย การตัดต่อก็ราบรื่นดูสมูทไปหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คิดว่าทุกคนน่าจะได้รับจากเรื่องนี้ก็คือความพยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จ แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แม้จะเป็นข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆของตัวเอง ถ้ากำจัดจุดอ่อนตรงนี้ไปได้ชีวิตก็ราบรื่นขึ้นอีกเยอะ ดูจบแล้วปลื้มปริ่มอิ่มใจเป็นที่สุด

และจำไว้นะว่า ... ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว