Friday, 28 August 2015

Natrang



คุณมีความฝันมั้ย? คุณเชื่อในความฝันของคุณแค่ไหน?

สองประโยคคำถามข้างต้นนี้ได้ยินเผินๆแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังโดนชวนไปทำขายตรงยังไงชอบกลใช่มั้ยละ แต่บอกเลยว่าความฝันและความเชื่อคือแก่นของหนังเรื่องนี้ Natrang เป็นหนังภาษามารฐีเพียงแค่เรื่องเดียวที่เรามีโอกาสได้ดู ต้องขอขอบคุณเพื่อนติ่งอินเดียที่แนะนำไว้ ณ ที่นี้ด้วย

                                                              Source

ถ้าจะให้เราเล่าเนื้อเรื่องย่อแบบคร่าวๆตามประสาคนขี้เกียจแบบเราแล้วละก็ เราจะไล่ให้คุณไปเปิดเพลงความเชื่อ ของ Bodyslam ฟังเอาแทน เพราะเนื้อร้องทุกคำนั่นแหละคือใจความของหนังเรื่องนี้ล้วนๆเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเราทำแบบนั้นจริงคงโดนด่าเปิดเปิงเป็นแน่แท้ เอาละ เราจะเล่าให้ฟังสั้นๆแล้วกัน


พระเอกของเรื่องชื่อว่า Guna เป็นกรรมกรที่มีใจรักในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมากๆ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี เอาเป็นว่ามันคล้ายๆลิเกก็แล้วกัน เขามีความฝันอยากจะเป็นนักแสดงในคณะละครพื้นบ้านอันนี้ วันดีคืนดีเขากับเพื่อนๆตกงาน ก็เลยได้ฤกษ์มารวมตัวกันก่อตั้งคณะละครขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเขารับบทเป็นพระเอก แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือยังไม่มีนางเอก เลยต้องดั้นด้นไปหานางเอกกัน พอหาได้มาคนนึงแล้ว ยัยนางเอกกับขุ่นแม่ที่ทำท่าเจ้ากี้เจ้าการเหมือนเป็นผู้จัดการส่วนตัวของดาราใหญ่ก็มิปานก็ท่ามาก ยึกยักว่าจะต้องให้มีบทกะเทยไว้เล่นเรียกแขกด้วย พวกนางบอกว่าถ้าหาไม่ได้จะไม่รับเป็นนางเอกให้ ยักกระสายน่าหมั่นไส้จริงๆ ซึ่งก็ต้องไปควานหาคนมารับเล่นบทนี้อีก ทำไปทำมาหาไม่ได้ แหงแหละ สังคมอินเดียแถบชนบท ผู้ชายหน้าไหนอยากจะมายืนทำตุ้งติ้งให้คนนับร้อยดูแล้วหัวเราะวะ Guna จึงจำใจรับบทนี้ไว้เอง โดยที่มีนางเอกคอยช่วยซ้อมบทบาทการเป็นกะเทยให้ แน่นอนว่าการก่อตั้งคณะละครนี้ถูกคัดค้านโดยครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงอะไรทำนองนี้มั้ง แล้วยิ่งพอรู้ว่าต้องเล่นเป็นกะเทยอีก ทั้งพ่อทั้งเมียเลยรับไม่ได้เอามากๆ แม้แต่พ่อตาก็ถึงขนาดมาพูดว่าจะออกทุนให้ไปทำค้าขายอะไรก๊อบๆแก๊บๆจะดีกว่า อย่าเล่นเลยไอ้บทกะเทยเนี่ย มันตากหน้าอายเขา แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ทั้งๆที่เวลาอยู่หน้าฉากคนดูจะสนุกไปกับบทบาทที่เขาได้รับ แต่พอลงจากเวทีแล้วกลับโดนเหยียดหยามกันซะอย่างงั้น โดนพูดจาล้อเลียนต่างๆนานา เมียเองก็พลอยโดนไปด้วย แม้แต่ลูกชายยังโดนเด็กเกเรมาล้อว่าเป็นลูกใครกันแน่ ในเมื่อพ่อเอ็งเป็นกะเทยซะขนาดนั้น เอ็งใช่ลูกเขาแน่หรือ แม่เอ็งท้องกับคนอื่นป่าววะ 

                                                                               Source

ปมปัญหาการถูกเหยียดหยามมากมายนี้มันค่อยๆบ่มเพาะให้เกิดการแตกหักกับทางครอบครัว มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากสำหรับชีวิตคนๆนึงที่จะต้องเลือกระหว่างครอบครัวและความฝัน จะต้องเลือกเอาไว้เพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น เส้นทางความฝันของ Guna ไม่ง่ายเลย เรานึกถึงคำพูดที่บอกว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กับเส้นทางของเขาแล้วมันยิ่งกว่าเอาทั้งหนามแหลมคม ทั้งเศษแก้วแตกกระจกแตก รั้วลวดหนาม หรือแม้แต่หมามุ่ยมากองรวมกันตามทางให้เขาก้าวเดินซะอีก เราจะไม่ลงรายละเอียดนะว่าเขาจะต้องเจอชะตากกรรมอะไรบ้างเพราะมันจะเป็นการสปอยล์เกินไป บอกได้เพียงว่าสุดท้ายแล้ว Guna ก็ประสบความสำเร็จในเส้นทางความฝันของเขาได้ในที่สุด แต่สิ่งที่เขาต้องผ่านมาตามทางนั้นมันช่างโหดร้ายเกินใจจะอดทนจริงๆ

                                                            Source

สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดใน Natrang ไม่ได้อยู่ที่ฝีไม้ลายมือการแสดงของใครเลยสักคน แน่นอนว่านักแสดงแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ตามที่มันควรจะเป็น แต่บทหนังต่างหากที่สมควรได้รับความดีความชอบไปทั้งหมดเลย โอเคว่ามันอาจจะมีจุดรั่วบ้างเล็กน้อยที่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่อะไร แค่ทำให้เราเลิกคิ้วและร้องเอ๊ะออกมาเบาๆเท่านั้น ไม่ถึงกับขั้นหงุดหงิดว่าปล่อยผ่านมาได้ยังไงเนี่ย ส่วนเรื่องฉาก เสื้อผ้า หน้า ผม หรือของประกอบฉากต่างๆก็ทำได้ตามมาตรฐานแหละมั้ง ที่ต้องใช้คำว่า "แหละมั้ง" เป็นเพราะเราดูจาก YouTube ซึ่งภาพมันไม่คมชัดเท่าไหร่ เรียกว่าแอบเมื่อยตากันนิดนึง (แต่ก็ต้องทนเพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะดูได้แบบมีซับอิงค์ ณ ตอนนั้น) ก็เลยเก็บรายละเอียดในเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยได้ว่าทำออกมาได้ดีหรือแย่ขนาดไหน แต่เท่าที่ดูก็รู้สึกว่ามันสะท้อนภาพชีวิตชนบทของรัฐ Maharashtra ได้ดีเลยนะ ดูเผินๆเหมือนดูหนังพีเรียดเลยด้วยซ้ำ เพราะมันดูไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ เหมือนไม่มีความเป็นเมืองในยุค 2010 ซึ่งเป็นปีที่หนังออกฉายเลย ดูแล้วนึกถึงยุคมนต์รักลูกทุ่งบ้านเราเลยอะ หน้าตาคนแสดงก็ไม่ได้สวยหล่อแบบพิมพ์ Bollywood นิยมเลย หลายคนถมึงทึง นางเอกก็สวยแบบย้อนยุค หน้าคล้ายพวกดาวโป๊ดาวยั่วบ้านเราสมัยน้าแอ๊ด-สมบัติชอบก๊ล พี่พระเอกตอนที่ยังเป็นกรรมกรมีหนวดก็ดูขึงขังน่าเกรงขามดี เรียกว่าเห็นแต่ภาพนิ่งคงคิดว่ากูกำลังดูบางระจันเวอร์ชั่นอินเดีย แต่พอโกนหนวดออกรับบทกะเทยปุ๊บ โฮ้โห หน้าเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย นั่งเพ่งตั้งนานเลยนะว่ามันคนเดียวกันรึเปล่าวะ เออ งั้นคงต้องชมไว้ตรงนี้แล้วแหละว่าแต่งหน้าได้ดี และชม Atul พระเอกด้วยที่ต้องลดน้ำหนักจากตอนเป็นกรรมกรบึ้กๆตอนแรกมาเป็นผู้ชายในไซส์กะเทย

                                                                                  Source

อีกจุดนึงที่เราชอบมากก็คือฉากตอนที่ Guna กำลัง transform ตัวเองให้เป็นกะเทยน่ะ ตอนที่แต่งหน้าและแต่งองค์ทรงเครื่องในชุดกะเทยเป็นครั้งแรก เขานั่งหน้ากระจกแล้วสวมหมวกเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นภาพที่ดูทรงพลังมาก รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะการแสดง รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะตามความฝัน รู้สึกถึงความแน่วแน่ที่จะต้องรับบทกะเทยท่ามกลางเสียงคันค้านของครอบครัว ดนตรีที่ตัดมาประกอบก็ข่างเร่งเร้าสุดๆ ฉากนี้ดูแล้วซี้ดปากเลย

อยากฝาก Natrang เอาไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกคนด้วย ใครที่มีความฝันแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างหรือยังไม่เริ่มลงมือทำเป็นชิ้นเป็นอัน ควรหามาดู ใครที่เริ่มลงมือกับความฝันแล้วแต่กำลังท้อกำลังเจอขวากหนาม ก็ยิ่งต้องหามาดู ดูชีวิตของ Guna เอาไว้ ดูแล้วสู้ให้สุดเส้นทางความฝันแบบเขา สู้ให้มันรู้ไปเลยว่าสุดท้ายแล้วเราจะตามไปคว้าความฝันมาได้มั้ย





... แม้ท้อแท้สักกี่ทียังมีหวัง
แม้พลาดพลั้งสักกี่ครั้งยังฝันไกล ...



Thursday, 27 August 2015

Haider


Haider เป็นหนัง Bollywood ที่เข้ามาฉายในบ้านเราเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เราไม่ได้ดูโรง คิดแล้วก็เสียดายมากเหมือนกันที่พลาด ผู้กำกับเรื่องนี้คือ Vishal Bhardwaj ที่รับหน้าที่เขียนบทและวางเค้าโครงเรื่องด้วย ซึ่งเค้าโครงของมันเขาได้ดัดแปลงมาจากผลงานก้องโลกของ William Shakespeare อย่าง Hamlet แต่ด้วยความที่เราไม่สันทัดในการตีความเปรียบเทียบ การรีวิวครั้งนี้เราจะลืมกันไปเลยว่า Haider ถูกนำมาตีความในรูปแบบใหม่แล้วจะต่างจากบทละคร Hamlet อย่างไร หรือมีการพูดถึงปม odipus แบบไหน หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบกับ Hamlet เวอร์ชั่นก่อนๆ ขอให้อ่านรีวิวโดยคิดเสียว่าหนังมันก็เป็นแบบนี้ของมันเองแต่แรกอยู่แล้ว มีจุดดีและจุดด้อยในตัวของมันเองดีกว่าที่จะต้องเอาไปเปรียบเทียบกัน

                                                                                                                                   Source


ถ้าจะให้เราสรุปคร่าวๆว่าโครงเรื่องของ Haider คืออะไร ... Haider Meer เป็นนักศึกษาหนุ่มที่กำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่แคว้นแคชเมียร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย พ่อแม่ของเขาส่งให้ไปเรียนที่เมืองทางใต้ ในตอนนั้นเองมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นที่นั่น มีทหารออกมาปกครอง มีการประท้วง นองเลือดต่างๆมากมาย สุดท้ายพ่อของ Haider หายไปอย่างไร้ร่องรอย Haider รู้เรื่องทันทีที่กลับมา แถมยังพบว่าแม่ของตัวเองกำลังจะแต่งงานกับอาแท้ๆ เขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขาตั้งใจจะตามหาพ่อให้เจอให้ได้ แต่ก็ได้รับข้อมูลจากชายผู้หนึ่งที่อ้างว่าพ่อของเขาได้ฝากข้อความไว้ให้แก้แค้นให้พ่อด้วย พ่อของ Haider ตายแล้วและคนที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คืออานั่นเอง เราจะไม่เล่าต่อว่าเขาจะจัดการกับแม่และอาในรูปแบบไหนหรือว่าเขาจะทำสำเร็จหรือเปล่า ให้ไปติดตามผลกันเอาเอง สิ่งที่จะพูดต่อจากนี้ไปคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงสมควรหาหนังเรื่องนี้มาดู

อันดับแรกเลย art direction สวยงามมากๆ สำหรับคนไทยทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียมากนักก็อาจจะติดภาพเมืองที่ค่อนข้างสกปรก ร้อนตับแตก มีคนจน มีวัวควายเดินร่อนเมือง น้ำเน่า ขยะกองตามทาง แต่ใน Haider เราจะได้เห็นความงดงามของเมืองหนาวทางเหนือ หิมะและความหนาวเหน็บที่สร้างความรู้สึกเหงาหม่นได้อย่างบอกไม่ถูก ด้วยความที่มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นที่นั่น มีการสู้รบกันเนืองๆ เราก็จะสามารถเห็นถึงความสกปรกและซากปรักหักพังที่เป็นผลพวงของการสู้รบด้วย แต่มันก็ไม่ใช่ความสกปรกแบบเดียวกับที่คนส่วนมากจินตนาการถึงอินเดียหรอกนะ

                                                                                 Source

ลูบหลังกันให้ดีใจก่อนในย่อหน้าที่แล้ว ต่อจากนี้จะเริ่มตบหัวแล้วละ ข้อเสียที่เราไม่ชอบที่สุดใน Haider ก็คือตัวเนื้อเรื่องไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ดูที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับปัญหาในแคว้นแคชเมียร์เลย ดูไปก็คิดไปว่าไอ้ฝ่ายไหนมันคือฝ่ายถูก ฝ่ายไหนคือคนผิด เหตุการณ์ทั้งหมดมันเริ่มจากอะไร อินเดียต้องการอะไร ปากีสถานเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง แล้วคนในแคชเมียร์เองละต้องการเป็นอิสระจากอินเดียหรือเปล่า หรือพวกเขาอยากได้อะไรกันแน่ คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวต่างประเทศย่อมไม่มีทางเข้าใจได้แจ่มแจ้งแน่ๆว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ซึ่งตรงนี้มันส่งผลต่อความรู้เรื่องในการดูมากพอสมควรเลย มันทำให้เราไม่รู้ว่าตัวละครไหนอยู่ฝั่งดีหรือฝั่งเลว คนผิดคือใคร เขาผิดจริงมั้ย สมควรได้รับชะตากรรมนั้นๆหรือไม่ ถึงแม้ว่าประเด็นของเรื่องจะถูกเทน้ำหนักไปที่การแก้แค้นของ Haider เสียมากกว่าก็ตาม แต่มันก็ทำให้คนดูอย่างเราอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่พ่อของเขาเคยทำไปนั้นดีหรือร้าย แล้วอาที่ดูเหมือนจะร้ายละ จริงๆเขาอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง (ของความขัดแย้งทางการเมือง) แล้วหรือเปล่า


หลังจากตบหัวไปฉาดใหญ่ก็กลับมาชื่นชมในบทบาทการแสดงของ Shahid Kapoor กันต่อ อาจจะเป็นเพราะเราเป็นติ่งเขาก็ได้มั้งเลยปลื้มการแสดงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ แต่ถึงยังไงเขาก็ได้รับรางวัลการันตีมากมายจากบท Haider นี่แหละ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเขา โดยปกติแล้ว Shahid มักจะได้รับบทแนวผู้ชายหล่อ น่ารัก หวานๆหน่อย ติดทะเล้น แต่ก็บู๊เก่ง บทบู๊เว่อร์ๆสไตล์ยี่สิบรุมหนึ่งยังรอดอะไรแบบนี้ละ สมกับฉายา chocolate boy ที่ได้มามากๆ แต่กับบทบาทของ Haider กลับต่างจากผู้ชายน่ารักน่าหลงใหลที่คุ้นเคยชนิดหน้ามือเป็นหลังตรีนก็ว่าได้ พัฒนาการด้านอารมณ์ของ Haider มันจะค่อยๆไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆจากตอนต้นเรื่อง ไต่ไปจนพีคคล้ายคนเสียจริต ร้องไห้ขี้มูกยืดย้อยไปหลายรอบแบบไม่ห่วงหล่อ พูดคนเดียวหลายนาทีด้วยท่าทางที่หลอนๆเสียจริต แถมโกนหัวอีกตะหาก ไม่เหลือคราบ chocolate boy ที่เราเคยหลงใหลเลย จากที่คนเคยพูดกันว่าหนัง Kaminey (ของผผก.คนเดียวกันนี้) เป็นหนังที่เปลี่ยนชีวิตการแสดงของเขาให้เข้มข้นขึ้น ตอนนี้คงต้องลบใหม่แล้ว เป็น Haider นี่ละที่เปลี่ยนอย่างแท้จริง กับฉากที่แสดงเต้นในงานแต่งของแม่กับอาก็เป็นอะไรที่น่าจดจำมากเช่นกัน เพราะมันต้องทั้งเต้นไปด้วยและแสดงสีหน้าแววตาไปด้วยพร้อมๆกัน เนื้อหาของเพลงที่ Haider เลือกแสดงเหมือนเป็นการแฉเรื่องราวของหญิงร้ายชายชั่วอะไรประมาณนั้น ไม่ใช่การที่ออกมาเต้นสลับฉากตามรูปแบบการเต้นในหนังอินเดียทั่วไป เป็นการเข้าเพลงไปเต้นแบบมีเหตุอันสมควรว่ายังงั้นเถอะ เพลง Bismil ที่ใช้ประกอบก็เจ๋งมากๆ ดุดันแต่งดงาม ติดหูซะจนเราเอามาทำริงโทนเลยทีเดียว โอเค เรากลับมายอคุณพระเอกกันต่อ ส่วนตัวคงต้องบอกว่าการแสดงของเขาคือส่วนที่ดีที่สุดของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

                                                Source

ตัวแสดงคนอื่นๆก็มองข้ามไปไม่ได้เหมือนกันนะ เริ่มที่ Tabu ผู้รับบทแม่ของ Haider เป็นผู้หญิงที่ยังดูไม่แก่มากเท่าไหร่ พูดตรงๆต้องบอกว่าหน้าอ่อนเกินกว่าจะมีลูกเรียนมหาลัย (นี่หล่อนท้องมันตอนอายุเท่าไหร่ ฮึ) ดูมีความเย่อหยิ่งที่แฝงไว้ด้วยความหวานเศร้าและอ่อนแออยู่ลึกๆ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีความตอแหร๋บางอย่างในตัวที่เก็บซ่อนไม่มิดยังไงก็ไม่รู้สิ และความตอฯอันนี้ของเธอก็ยั่วประสาทเราและยั่วประสาท Haider ได้เป็นอย่างดี อ้อ ในรอบแรกที่เราได้ดูเรายังจับไม่ได้ถึงประเด็นปม odipus นะ แต่พอเราได้ดูรอบสอง เราก็สังเกตเห็นในฉากที่ Haider ใส่น้ำหอมให้แม่ แล้วชมว่าแม่สวยมากพร้อมกับรำลึกความหลังกันว่าตอนเด็กๆเคยพูดว่าโตขึ้นจะแต่งงานกับแม่ สีหน้าท่าทางของ Shahid กับ Tabu ทำเอาเราขนลุกขนพองไปเลย จำได้แม่นว่าเบ้ปากเป็นสระอิคว่ำโดยรู้ตัว 

                                                                                 Source

สำหรับอีกคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ Irrfan Khan ถึงแม้ว่าบทของเขาจะไม่ได้เด่นมากในเรื่องนี้ (เป็นชายผู้ส่งข่าวของพ่อ) แต่การแสดงของเขาก็ทรงพลังทุกครั้งที่โผล่มาในฉาก ตอนแรกก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเขาจะเลือกเบอร์ใหญ่ขนาดนี้มารับบทนี้ เพราะดูเผินๆเหมือนบทมันไม่ได้สำคัญอะไรมากนัก แต่พอได้ดูจริงๆก็สำคัญอยู่พอสมควรเลย ซึ่งการแสดงของเขาใน Haider จัดเป็นงานประเภท less is more โดยแท้

                                                                                  Source

มาถึงตัวร้ายของเรื่องกันบ้างที่ได้ Kay Kay Menon มารับบทนี้ ส่วนตัวเราว่ามันเป็นบทร้ายแบบนิ่งๆนะ เหมือนร้ายหลบใน ร้ายหน้านิ่ง ร้ายไม่โจ่งแจ้ง ซึ่งมันทำให้ไม่น่าหมั่นไส้เท่าที่ควร ลามไปถึงขนาดที่ทำให้คนโง่แบบเราแอบงงเหมือนกันว่าตกลงอิตัวนี้มันร้ายแน่มั้ยวะ แล้วร้ายแค่ไหน เทียบกันกับบทแม่ของ Haider เราว่ายัยตัวแม่ดูน่าตบกว่าอาเยอะเลย

                                                                                  Source

คนสุดท้ายที่จะขอพูดถึงก็คือ Shraddha Kapoor กับบทของ Arshia หญิงคนรักของ Haider เราเคยดูงานของเธอมาก่อนที่จะได้ดู Haider แค่เพียงเรื่องเดียวคือ Ek Villain ในเรื่องนั้นบทบาทของเธอใสๆ ดูเป็นผู้หญิงคิดบวก แต่บทบาทใน Haider นี้ดูเป็นตัวละครที่เติบโตขึ้นมาก เป็นผู้หญิงที่นิ่งขึ้น ไม่ได้ลั้ลลาอย่างเก่า ใช้ชีวิตแบบมีมิติที่ซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ มีบทเข้าพระเข้านางที่วาบหวิวกว่าเดิมดีด้วย เป็นการคืนกำไรให้แก่คนดูอย่างเรา (ที่ไม่ได้สนใจนางเลย จ้องแต่ Shahid และอดใจไม่มโนเอาหัวตัวเองไปใส่แทนที่หัวนางก็บุญเท่าไหร่แล้ว ฮ่าๆ) การแสดงของเธอถือว่าสอบผ่านเลยแหละ

                                                                                  Source

สิ่งที่คนดูจะได้รับจาก Haider คือพลังของการแสดงเป็นหลักเลยก็ว่าได้ รองลงมาก็คือความสวยงามของฉากและสถานที่ ตัวไดอะล็อกเองก็ดีนะ เราซื้อ dvd ดู เสียงในฟิล์มเป็นภาษาฮินดี มีซับอังกฤษ ขนาดว่าเราฟังฮินดีได้แค่บางคำก็ยังรู้สึกว่าคำที่เขาเลือกใช้มันคมมาก อ้างอิงจากการแปลมาเป็นซับอังกฤษนี่แหละ ในส่วนของการเอาโครงเรื่องจาก Hamlet ทำใหม่ในบริบทของอินเดียและปมปัญหาของแคว้นแคชเมียร์ไม่ใช่อะไรที่จะต้องไปใส่ใจมากก็ทำให้ดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก เราเชื่อว่างั้นนะ คนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบทละครเรื่อง Hamlet มันเกี่ยวกับอะไรก็สามารถดูได้แบบไม่ต้องคิดมากเลย